
“หนึ่งในความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้แก่บรรดานักลงทุน ไม่ว่าจะมีวิกฤตใดก็ตามเกิดขึ้นบนโลก”
กิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังจําได้ไม่ลืมถึงตอนเข้ารับตําแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 9 เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 2544
เพราะหลังจากนั้นเพียงหนึ่งวันก็เกิดเหตุการณ์เครื่องบินสองลําพุ่งชนอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘เหตุวินาศกรรม 9/11’
“ก่อนเหตุการณ์ 9/11 ดัชนีราคาหุ้นในตอนนั้นอยู่ในภาวะตกต่ำ แล้วก็ไม่คาดคิดว่าจะลดลงไปมากกว่านั้น แต่ผลพวงของเหตุการณ์ 9/11 ทําให้ดัชนีราคาหุ้นลดลงอีกถึง 30% ปริมาณการซื้อขายก็ลดลงเพราะผู้คนขาดความมั่นใจ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งไม่เคยปิดทําการมาก่อน ต้องตัดสินใจปิดทําการเป็นครั้งแรกเป็นเวลา 1 วัน”
ในวันที่ 12 กันยายน 2544 เป็นเพียงวันเดียวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยปิดทําการ แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นจนถึงวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่เคยปิดทําการอีกเลย
ท่ามกลางสถานการณ์ปั่นป่วนโกลาหล ความหวาดระแวงแผ่ขยายปกคลุมไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย จําเป็นอย่างยิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของ นักลงทุนให้กลับคืนมาโดยเร็ว นับเป็นช่วงเวลาสุดแสนท้าทายในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
กิตติรัตน์ยอมรับว่าความท้าทายในช่วงเวลานั้น คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา ท่ามกลางปัญหาที่สะสมไว้ก่อนหน้าที่รออยู่ไม่น้อย เช่น การเปิดเสรีอัตราค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้บริษัทโบรกเกอร์หลายแห่งประสบปัญหาเรื่องรายได้ นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสําหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคที่จํานวนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีไม่ถึง 20% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
หลังกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมาแล้ว การเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องก็มีส่วนสําคัญที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรในช่วงเวลาที่คนภายนอกมองตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแง่ลบว่าเหมือนเป็นศูนย์กลางการเก็งกําไร
“การที่จะทําความเข้าใจให้คนทราบในข้อเท็จจริงว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นระบบตลาดรอง (Secondary Market) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้สินค้าหรือหุ้นที่ออกมาเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเสนอขายในตลาดแรก (Primary Market) มีสภาพคล่อง ทําให้คนกล้าเข้ามาลงทุนเมื่อมีการระดมทุน งานให้ความรู้จึงเป็นเรื่องที่สําคัญมากในช่วงเวลานั้น”
สานต่อแนวทางสร้างตลาดทุนไทย
แนวคิดในการทํางานของกิตติรัตน์ ได้ถูกสานต่อมาจากอดีตกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายท่าน ที่ได้ฝากฝังไว้หลังหมดวาระ
“ผมไม่ได้เป็นคนที่ริเริ่มอะไรเองมากนัก แต่เกือบทั้งหมดเกิดมาจากการนั่งคุยกับทีมที่เคยทํางานกับอดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายท่าน ซึ่งพร้อมทําหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการร่วมพัฒนาตลาดทุนไปด้วยกัน
“ท่านมารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 5 ได้ฝากงานสําคัญไว้ นั่นคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุนให้แก่ผู้ที่สนใจลงทุน รวมถึงประชาชนทั่วไป ท่านเชื่อว่าภารกิจนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งที่ดีให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างยั่งยืน
“ขณะที่อาจารย์ศุกรีย์ แก้วเจริญ ฝากเรื่องการให้ความสําคัญกับตลาดอนุพันธ์หรือตลาดซื้อขายล่วงหน้ากับตราสารที่มีลักษณะเป็นฟิวเจอร์ ผมก็ได้รับแนวคิดมาสานต่อ โดยมีคุณเกศรา มัญชุศรี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เข้ามาช่วยกัน ก่อนที่ภายหลังคุณเกศรา จะขึ้นมาเป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ
“ด้านคุณเสรี จินตนเสรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 6 ท่านมองว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น แม้ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่จัดตั้งด้วยกฎหมายพิเศษ และก็ไม่ใช่องค์กรเอกชนที่นำกำไรไปแบ่งให้ผู้ถือหุ้น ดังนั้น ภารกิจที่ต้องให้ความสําคัญ คือเรื่องของการดูแลสังคม”
แนวคิดดังกล่าวทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคของกิตติรัตน์ มีความโดดเด่นในการให้ความรู้ การสร้างสินค้าที่ล้ำหน้า ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมโดยรวม
เปิดโลกตลาดทุนสู่ประชาชน
ในยุคของกิตติรัตน์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการจัดกิจกรรม ในรูปแบบของนิทรรศการเพื่อให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป โดยอาศัยพื้นที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในยุคที่สื่อออนไลน์ หรือแม้กระทั่งทีวีดิจิทัลยังไม่เป็นที่รู้จัก
“ตอนนั้น คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอให้เปลี่ยนชื่องาน ‘Investor Fair’ มาเป็นชื่อใหม่ว่า ‘SET in the City’ เพื่อให้มีความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นกันเองมากขึ้น ซึ่งผมถือเป็นความกล้าหาญมาก เพราะเป็นการฉีกออกจากกรอบความคิดและมุมมองแบบเดิม ๆ ท้ายที่สุด SET in the City ก็กลายเป็นชื่อของการจัดมหกรรมการลงทุนประจําปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาจนถึงทุกวันนี้”

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนอย่างเต็มที่ การเปิดตัว ‘มันนี่แชนแนล’ (Money Channel) นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดครั้งสําคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนให้แก่สังคมไทย มันนี่แชนแนลเป็นช่องรายการเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุน ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ควบคุมการผลิตโดยบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จํากัด
“มันนี่แชนแนลมีห้องส่งอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีฐานข้อมูลสําคัญ คือข้อมูลที่ถูกส่งมาจากบริษัทจดทะเบียน และนํามาขยายผลด้วยการเชิญผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ รวมถึง ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายแขนงมาให้ความรู้เรื่องธุรกิจและการลงทุน ทําให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําได้สําเร็จ”
นอกจากการเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนคนทั่วไปแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ก่อตั้ง ‘สถาบันวิทยาการตลาดทุน’ (วตท.) หรือ Capital Market Academy ในปี 2548 โดยมีเป้าหมายคือการส่งเสริมให้ผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่นอกวงการตลาดทุนให้มีความรู้ความเข้าใจด้านตลาดทุนที่ดี จนถึงปี 2566 มีผู้บริหารระดับสูงเข้าเรียนแล้วกว่า 3 พันท่าน ในชั้นเรียน 33 รุ่น
“ช่วงเริ่มต้นก่อตั้งสถาบันวิทยาการตลาดทุน เราได้เชิญผู้บริหารชั้นนำจากทุกวงการที่สามารถสนับสนุนให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นฟันเฟืองสําคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกระจกสะท้อนให้เรารับรู้ว่าสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กําลังทําอยู่ว่ามีอะไรที่บกพร่อง และควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบ้าง”
ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสะท้อนมาจากการสํารวจความคิดเห็นของผู้บริหารที่มีความใกล้ชิดกับตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงผลสํารวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปผ่านสื่อต่าง ๆ ที่เริ่มมีการวิเคราะห์วิจารณ์ที่เป็นเชิงบวกชัดเจน ทําให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้น และสร้างความพึงพอใจโดยทั่วไปให้เพิ่มขึ้นเป็นลําดับ

หนุนธุรกิจให้มั่นคงและยั่งยืน
ภายหลังจากวิกฤตต้มยํากุ้งและวิกฤตการณ์ 9/11 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ความสําคัญกับการกํากับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) โดยมีการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานของบริษัทจดทะเบียน กิตติรัตน์มองว่าต้องยึดหลัก 5 ประการ คือ มุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส ใส่ใจอธิบาย และคำนึงถึงความเสี่ยง ซึ่งเป็นหลักการสําคัญในการสร้างมาตรฐานขององค์กรให้มีธรรมาภิบาล
โดยสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดําเนินการคือการทํางานกับกลุ่มบริษัทจดทะเบียนโดยผ่านกลไกของสมาคมบริษัทจดทะเบียนที่ช่วยกันคิดช่วยกันทํา จนกระทั่งประสบความสําเร็จอย่างดี
กิตติรัตน์ถือเป็นผู้ริเริ่มมอบรางวัล SET Awards ในปี 2546 ร่วมกับสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการบริหารวารสารการเงินธนาคาร เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรที่มีความสามารถโดดเด่นในตลาดทุนให้เป็นต้นแบบและเป็นกําลังใจแก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยซึ่งในขณะนั้นมีจํานวนกว่า 400 บริษัท ตลอดจนเพื่อส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและยกระดับตลาดทุนไทย รวมถึงสร้างแรงจูงใจต่อบริษัทจดทะเบียน ผู้บริหารและพนักงานเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กรให้มีความน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส นักลงทุนได้ลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพ
ความคิดริเริ่มทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนเรื่อยมา ดั่งสโลแกนที่ว่า ทํางานให้มีประสิทธิผลในวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น (Make It Work for Better Future)
ส่งต่อความรู้ เข้าถึงคนทุกกลุ่ม
กล่าวได้ว่าในยุคของกิตติรัตน์ วิสัยทัศน์ด้านการเผยแพร่ความรู้เรื่องการลงทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป กลุ่มนักลงทุน ผู้ประกอบการ จนถึงผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนํา ได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้แต่การตัดสินใจขยายเวลาเปิดให้บริการห้องสมุดมารวย ซึ่งถูกใช้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลของบุคคลทั่วไป รวมถึงนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเรื่องการลงทุนและการออม
นอกจากนี้ ยังได้เปลี่ยนบรรยากาศห้องสมุดให้ผ่อนคลายลงกว่าเดิม ภายใต้แนวคิด ‘ชั้นบนเงียบกริบ ชั้นล่างกระซิบได้’ อีกทั้งยังปรับโฉมรูปแบบการวางหนังสือโดยเพิ่มความน่าสนใจของหน้าปกหนังสือแต่ละเล่ม ขณะเดียวกันเริ่มอนุญาตให้นำกาแฟเข้าไปดื่มในห้องสมุดได้ ส่งผลให้มีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ
กิตติรัตน์เล่าต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดข้างต้นถือเป็นจุดเริ่มต้นทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายความสําเร็จออกไปสู่ห้องสมุดอื่น ๆ ด้วย ผ่านการร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อขยายมุมความรู้ตลาดทุน หรือที่เรียกว่า “มุมความรู้ตลาดทุน (SET Corner) โดยผลักดันให้เข้าไปอยู่ในห้องสมุดของสถาบันการศึกษามากมายหลายแห่ง “รูปแบบของห้องสมุดที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนั้น หลายสิ่งหลายอย่างเกิดจากแนวคิดของบรรณารักษ์ ด้วยคําแนะนําของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นความภาคภูมิใจของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาจนถึงวันนี้”
อีกเรื่องหนึ่งที่นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคนั้นก็คือ พ็อกเกตบุ๊กชื่อ ออมก่อนรวยกว่า เขียนโดย นวพร เรืองสกุล อดีตผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ และกลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งของประเทศ ต่อมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนเสมือนจัดตั้งสํานักพิมพ์ขึ้นเอง โดยเชิญชวนนักวิชาการ ผู้รู้ด้านการเงินและตลาดทุนมาเป็นผู้เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับการออมและการลงทุน ผ่านหนังสืออีกมากมายนับร้อยเล่ม จนได้รับการเชิญชวนให้ร่วมเปิดแผงจําหน่ายหนังสือ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน
กิตติรัตน์กล่าวสรุปถึงการทํางานในช่วงเวลาดังกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรที่ต้องทํางานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่อื่น ๆ ดังนั้น ความภาคภูมิใจสูงสุดคือการได้มีโอกาสทํางานร่วมกับบุคลากรต่าง ๆ ทํางานใกล้ชิดกับบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนพนักงานทุกระดับในตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงระดับปฏิบัติการ รวมถึงแม่บ้าน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
“กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ผมรู้สึกภูมิใจที่เห็นองค์กร ซึ่งในอดีตเคยเช่าสํานักงานคนอื่นเขาอยู่ กระทั่งวันหนึ่งเรามีที่ดินเป็นของตัวเอง มีอาคารที่สร้างขึ้นมาใหม่ มีระบบซื้อขายสํารองที่ในอดีตไม่เคยมี ที่สําคัญตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบุคลากรที่เก่งขึ้น สอดรับกับบริบทของการเปลี่ยนแปลง จนถึงวันนี้ ผมก็ยังคงส่งกําลังใจให้คนที่ทํางานที่นี่เสมอ”
จบประโยค กิตติรัตน์เผลอยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว ราวกับว่ามีความสุขเล็ก ๆ เกิดขึ้นในใจยามได้หวนรําลึกถึงวันที่เขาเคยเดินเคียงข้างพี่น้องชาวตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระหว่างปี 2544 ถึง 2549 เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายของภารกิจที่เขาร่วมวาดหวังไว้ กับทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกขององค์กร