ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเติบโตขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลังเริ่มมองเห็นความผันผวนไม่แน่นอนที่พลิกโฉมเหตุการณ์ให้แตกต่างไปจากเดิม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่พวกเรายึดมั่นไม่เคยเปลี่ยนคือ ‘Integrity’ และ ‘Principle’ เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงความน่าเชื่อถือมาจนถึงปัจจุบัน
การสร้างสมดุลระหว่างสิ่งใหม่ที่ถือกําเนิดขึ้นกับหลักเกณฑ์เดิมที่เคยยึดมั่นนับว่าเป็นความท้าทายตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องทําให้ทุกฝ่ายเข้าใจในหลักการและที่สําคัญต้องมีความยืดหยุ่น (Flexibility) พร้อมปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเร่งทำทันทีคือปรับกฎเกณฑ์และระเบียบที่ยึดถือปฏิบัติในด้านงานกํากับดูแลให้เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใสเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลที่ถูกส่งออกไปต้องทําให้คนตระหนักได้ถึงความเสี่ยง และมองเห็นทางเลือกในการลงทุน เพราะบางคนไม่ได้มองว่าความเสี่ยงเป็นอุปสรรค แต่กลับมองว่าเป็นโอกาส การให้ข้อมูลทําให้ผู้ใช้ประเมินและชั่งนํ้าหนักระหว่างความเสี่ยงกับโอกาสที่มี นี่คือเหตุผลว่า ทําไมข้อมูลจึงมีส่วนสําคัญในการวิเคราะห์และตัดสินใจ
แม้วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับตัวได้ดีท่ามกลางความท้าทายนานัปการแต่ผมเชื่อว่าเรายังทําให้ดีขึ้นได้อีก เพราะโลกยุคนี้ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หากแต่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ ปัจจัยภายในองค์กรและภายนอกองค์กร โจทย์สําคัญคือต้องปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น Solutions ที่เป็น One-Size-Fits-All ที่เคยใช้ได้ดี ตอนนี้อาจจะต้องเป็น Solution ที่ Tailor-made โดยใช้ Data มาช่วยวิเคราะห์หาวิธีที่เหมาะสม
ตลาดทุนในยุคต่อไปจะมีการใช้ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาช่วยคนทํางานมากขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ทันกับสถานการณ์และจํานวนนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ด้วยความรวดเร็วแม่นยํา เทคโนโลยีจะช่วยให้หน่วยงานกํากับดูแลสามารถหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากข้อมูลที่มีในอนาคตอันใกล้การนําเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทํางาน (Digitalization) จะยิ่งมีความสําคัญมากขึ้น เนื่องจากคนเรามักจะมีความเชื่อที่ยึดถือตามกันมา (Legacy Belief) ซึ่งข้อมูลจะช่วยพิสูจน์ว่าความเชื่อนั้นเป็นจริงหรือไม่ รวมถึงช่วยหาแนวทางที่ดีที่สุดในการปรับตัว
สิ่งที่ผมพยายามผลักดันมาโดยตลอดคือทําให้ทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และไม่จํากัดด้วยว่าเป็นนักลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ โดยทําให้ทุกคนได้รับบริการที่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับบริการเหมือนกัน แต่จะได้รับบริการที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งการออกแบบวิธีการให้บริการที่เท่าเทียมและเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มนั้นมีความสําคัญมาจากความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลทุกด้าน
หลักคิดในการทํางานที่ผมแนะนําพนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่เสมอ คือ ‘ความยืดหยุ่น’ (Flexibility) เราต้องปรับตัวให้ทําสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมได้ และ ‘ความอึด’ (Resiliency) ต้องสามารถรองรับความเสี่ยงได้หลากหลายรูปแบบ จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ําว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทําธุรกิจแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องมีการใช้ข้อมูลเข้ามาวิเคราะห์ ช่วยออกแบบวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ที่สําคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทําคนเดียวไม่ได้ คนที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนจะต้องปรับตัวไปด้วยพร้อมกัน เพียงแต่ว่าความเร็วในการปรับตัวอาจจะไม่เท่ากัน
เราต้องช่วยกันทําให้ตลาดทุนปรับตัวได้เร็วขึ้น ดีขึ้น และเหมาะสมกับสถานการณ์ของโลก
ไม่ว่าจะเผชิญความท้าทายรูปแบบใดในอนาคต ‘ความยืดหยุ่น’ (Flexibility) ‘ความทนทานต่อสถานการณ์’ (Resiliency) ประกอบกับการดําเนินงานที่มี ‘ความซื่อสัตย์สุจริต’ (Integrity) และยึดมั่นใน ‘หลักเกณฑ์’ (Principle) ที่ชัดเจน รวมถึงการทําให้ทุกคนได้รับข้อมูลและบริการที่ ‘เท่าเทียมกัน’ (Equality) จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มศักยภาพ และขยายขีดความสามารถในการทําธุรกิจของตลาดทุนไทยให้ไปสู่ระดับโลก ผมเชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรที่ Dynamic สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและทําให้ดีกว่าเดิมได้แน่นอน