SET The Capital Market in the Next Decade

จากวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีเป้าหมายสู่การเป็น ‘ตลาดหลักทรัพย์ระดับโลกของคนไทย’ ซึ่งนอกจากจะต้องสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อขยายการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างองค์ความรู้ให้กับนักลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ตลาดทุนในการสร้างความมั่งคั่งแล้ว ภารกิจอีกด้านของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการจับมือร่วมกับหน่วยงานกํากับดูแลต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การดําเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส เป็นธรรม ส่งเสริมความมั่นคงของตลาดทุน และที่สําคัญคือเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการ

ส่วนนี้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวจากมุมมองของหน่วยงานกํากับดูแลที่มีบทบาทสําคัญในการสร้างให้เกิดตลาดทุนระดับโลกของคนไทย ทั้งสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่แม้จะต่างบทบาท แต่หน่วยงานทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างแหล่งทุนที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสร้างสรรค์ 

ร่วมสร้างความเชื่อมั่น
สู่เป้าหมายตลาดทุนที่ทุกคนเชื่อใจ

สําหรับองค์กรกำกับดูแลที่ทำงานใกล้ชิดกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากที่สุด คงหนีไม่พ้นสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่ง พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฉายภาพให้เห็นปลายทางที่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหวังที่จะเห็น และพยายามร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ Trust and Confidence ที่นับวันจะยิ่งมองเห็นความคาดหวังของผู้ลงทุนในเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสําคัญอย่างมาก เพราะบทบาทของ ก.ล.ต. ถ้าอธิบายง่าย ๆ คือเราเป็นคนที่ออกกฎ เราเป็นคนที่ให้กรอบในการปฏิบัติ แต่เราไม่ใช่คนปฏิบัติเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนเราเป็นคนสร้างถนนให้คนมาเดิน ซึ่งคนที่มาเดินบนถนนเส้นนี้ย่อมต้องการความปลอดภัย เมื่อใดที่เขาเชื่อความเป็นมืออาชีพของคนที่ออกกฎเกณฑ์เขาก็จะปฏิบัติตาม”

พรอนงค์ยังมองว่า Trust and Confidence เป็นสิ่งที่หน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องเกี่ยวข้องกับสาธารณะต้องให้ความสําคัญ โดยเฉพาะในโลกที่มีความผันผวนและซับซ้อน ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามผลักดันเรื่องเหล่านี้ พยายามจัดสมดุลระหว่างการกํากับดูแลที่เหมาะสม รัดกุม โปร่งใส ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดทุนให้รองรับความต้องการของผู้ลงทุนในตลาดที่มีความคาดหวังที่เปลี่ยนไป ผลลัพธ์ที่ได้ คือการประสานนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนําไปสู่ตลาดทุนที่ยั่งยืนในระยะยาว

อีกหนึ่งความร่วมมือที่สําคัญระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ในยุคนี้คือการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อป้องกันการหลอกลวงลงทุน

“ดิฉันคิดว่าการหลอกลวงลงทุน บั่นทอนการออมและการลงทุนมากคนไทยเป็นคนที่ใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียในสัดส่วนที่สูง ทําให้เคสของการหลอกลวงโดยเฉพาะการหลอก ลวงลงทุนมีสัดส่วนที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก แล้วเมื่อเกิดความเสียหายย่อมจะทําให้เกิดการเข็ดหลาบในเรื่องการลงทุน ซึ่งทุกองคาพยพในตลาดทุน ร่วมมือกันที่จะป้องกัน ปราบปรามให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นเลย สิ่งที่เป็นรูปธรรมก็คือ ดําเนินการประสานผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อปิดบัญชีที่หลอกลวงลงทุนได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการให้ความรู้และพัฒนาเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของ ก.ล.ต. รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเพื่อช่วยในการตัดสินใจก่อนการลงทุน”

สําหรับความท้าทาย พรอนงค์มองว่าจําเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินกับการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยยกตัวอย่างการพัฒนาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่มี การยกระดับกฎเกณฑ์กํากับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายส่วนเพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่นักลงทุน เช่น การโฆษณา การแจ้งเตือนความเสี่ยง การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า และการห้ามบริการฝากหรือกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น เพื่อให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยมีความทัดเทียมกับต่างประเทศ และผู้ประกอบธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“ที่ผ่านมาอาจมีประเด็นด้านความเหลื่อมลํ้าในกฎเกณฑ์และการกํากับดูแล (Regulatory Arbitrage) ระหว่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ก.ล.ต. จึงได้ยกระดับกฎเกณฑ์การกํากับดูแลในหลายส่วนให้ทัดเทียมกัน โดยอยู่ระหว่างการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถนําโทเคนดิจิทัลที่ออกมาเพื่อการระดมทุนมากํากับดูแล ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ได้ รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ภายใต้หลักการ ‘Same Activities, Same Risks, Same Regulatory Outcome’ ให้สอดคล้องกับต่างประเทศ

“อีกหนึ่งโจทย์ที่ ก.ล.ต. มองว่าจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงคือเรื่องการลงทุนระยะยาว เพราะในโลกอนาคตมีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สําหรับประเทศไทยรออยู่ นั่นคือสังคมสูงวัย ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่จํานวนมากเลือกที่จะไม่ทํางานในระบบแต่ต้องการจะเป็นเจ้านายตัวเองมากขึ้น ดังนั้นการมีส่วนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างให้คนไทยมีวินัยในเรื่องของการออมและการลงทุนเพื่อตอบโจทย์อนาคต และรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นโจทย์ที่ทำควบคู่กัน”

การขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่อง Climate Change ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พรอนงค์ทิ้งท้าย โดยตลาดทุนไทยควรให้ความสําคัญเรื่องการจัดให้มีข้อมูลด้าน ESG ที่เพียงพอ เข้าใจง่าย เปรียบเทียบได้ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศจะใช้ในการตัดสินใจลงทุนแล้ว ยังจะทําให้ตลาดทุนเป็นกลไกสําคัญในการบรรลุเป้าหมายทางการเงินอย่างยั่งยืนการปรับตัวสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ บรรลุเป้าหมาย SDGs ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับนานาชาติต่อไป

“Trust and Confidence เป็นสิ่งที่
หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
กับสาธารณะต้องให้ความสําคัญ
โดยเฉพาะในโลกที่มีความผันผวนและซับซ้อน”

พรอนงค์ บุษราตระกูล
เลขาธิการ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เดินหน้าอย่างมั่นคง
ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานสําคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนและผู้ระดมทุน ทําให้การจัดสรรเงินทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน เพิ่มการเข้าถึง และขยายประโยชน์ของตลาดทุนไปยังประเทศในภาพรวมขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีบทบาทในการพัฒนาตลาดการเงินร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาอย่างต่อเนื่อง เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าถึงเป้าหมายที่มองเห็นร่วมกันและแนวทางการทํางานในระยะต่อไป คือ การทําให้ภาคการเงินไทยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ ประชาชนมั่นใจและได้ประโยชน์จาก บริการในตลาดเงินตลาดทุน

ด้านการพัฒนาให้ภาคการเงินเอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยใช้แนวคิดสากลด้าน ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสําคัญและจะมีผลต่อการเติบโตของภาคการเงินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ธปท. จึงร่วมมือกันเพื่อผลักดันการนํา ESG มาใช้ในภาคการเงินในหลายมิติ เริ่มจากการจัดตั้ง Working Group on Sustainable Finance (WG-SF) เพื่อกําหนดทิศทางการดําเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของภาคการเงินไทย และการออกมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คํานึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนใช้อ้างอิงในการขับเคลื่อนนโยบายและดําเนินธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างน่าชื่นชม สะท้อนจากจํานวนบริษัทไทยเข้าเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Index (DJSI) มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

อย่างไรก็ดี ในภาพรวม ไทยยังต้องเร่งดําเนินการอีกหลายเรื่อง ทั้งการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลและการยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการสร้างความตื่นตัวในการปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืนสําหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มห่วงโซ่การผลิตซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในตลาดโลก รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในระยะต่อไป

ด้านการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริการของตลาดเงินและตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ธปท. ให้ความสําคัญกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบงานที่ให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในมุมการพัฒนาเทคโนโลยีและการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของระบบ รวมถึงการเตรียมแผนฉุกเฉินระบบการชำระเงิน เพื่อรองรับเหตุไม่คาดคิด

ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าด้านดิจิทัลเป็นอีกปัจจัยที่จะทําให้ภาวะแวดล้อมในตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นผันผวนสูงขึ้น ที่ผ่านมา ตลาดเงินและตลาดทุนได้นําเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และเพิ่มความยืดหยุ่นในการรองรับบริการและความต้องการภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของตลาดทุน (Digital Infrastructure)เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลรวมถึงส่งเสริมทักษะที่จําเป็นให้กับบุคลากรในตลาดการเงิน ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการปรับตัวและการแข่งขันเพื่อให้ตลาดการเงินไทยสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังมุ่งเน้นส่งเสริมความรู้ทางการเงิน การออม และการลงทุนให้แก่ประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงทางการเงินของคนไทยและประเทศในภาพรวม

ในโลกที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน อนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากขึ้นตามพลวัตของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และสังคมที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีภารกิจอีกมาก จะต้องทําร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น

เศรษฐพุฒิกล่าวทิ้งท้ายว่า “หลักการสําคัญในการขับเคลื่อนนโยบายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงคือ ต้องตั้งอยู่บนจังหวะเวลา (Timing) และความเร็ว (Speed) ที่เหมาะสม โดยต้อง ‘ไม่ช้าเกินไป’ จนเกิดผลกระทบลุกลามจนไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่เร็วเกินไป จนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถปรับตัวได้ทัน”

“ตลาดเงินและตลาดทุนในอนาคต
ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถรับมือ
กับสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ โดยส่งเสริมทักษะที่จําเป็น
ให้กับบุคลากรในตลาดการเงิน
ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการปรับตัว
และการแข่งขัน รวมถึงเตรียมแผนสํารอง
กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด”

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ 
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย