
“ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ เราต้องติดตามความเคลื่อนไหวของโลก และศึกษาให้แน่ใจก่อนที่จะลงมือทํา ถ้าเดินไปแล้วผิดทางอาจเกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้อง”
คํากล่าวของ ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 10
สะท้อนวิธีคิดสําคัญอันส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตอย่างมั่นคงตลอดมา
พนักงานรุ่นแรกที่เป็นกรรมการและผู้จัดการ
ภัทรียาเริ่มทํางานตั้งแต่ปี 2518 ปีแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากที่ต้องทําทุกอย่างด้วยมือทั้งหมด ตั้งแต่ซื้อขายหุ้นแบบเคาะกระดาน ชําระราคาและส่งมอบด้วยใบหุ้น ส่งมอเตอร์ไซค์ไปเก็บเงิน ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลทั้งหมด
“ในช่วงเริ่มต้นคุณศุกรีย์ แก้วเจริญ นายคนแรกได้มอบหมายให้ช่วยกันคิดว่าดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ควรมีที่มาอย่างไร คํานวณอย่างไร ส่งข่าวอย่างไร ต้องหาจากตําราและมีที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาช่วย ก็ได้เป็น SET Index ต่อมาก็ขยายเป็นดัชนีอื่น ๆ”
“บางเรื่องก็ช้าไม่ได้ ต้องตัดสินใจอย่างฉับไว แล้วค่อยไปแก้ปัญหาเอาระหว่างทาง ขณะที่บางเรื่องจําเป็นต้องถอย หากวิเคราะห์แล้วการไปต่อจะทําให้เกิดปัญหามากกว่าที่ควร”
ภัทรียาเล่าว่าความท้าทายของการทํางานในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั่วโลกและในประเทศ การเมืองก็เป็นสิ่งสําคัญไม่แพ้กัน
ช่วงที่เป็นกรรมการและผู้จัดการได้ผ่านมาทั้งเหตุการณ์ Subprime Crisis เศรษฐกิจในสหรัฐฯ มีปัญหารุนแรง สงครามอ่าวเปอร์เซีย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ แต่ทุกครั้งที่มีความท้าทายเกิดขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที โดยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง นับเป็นความท้าทายที่ผ่านมาได้ด้วยประสบการณ์ ทีมงาน และความร่วมมือร่วมใจของพนักงานทุกคน
“ต้องบอกว่าประสบการณ์ที่ได้จากการเป็นพนักงานรุ่นแรก และผ่านร้อนผ่านหนาวมากับพนักงานที่มีมาตลอดก็ได้มาใช้เมื่อรับตําแหน่งผู้นําองค์กร สิ่งที่ต้องทําคือประสานความร่วมมือ ทําให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือการเป็นตลาดทุน ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
มุ่งสู่ความสําเร็จ
ในช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มมีบทบาทน้อยลงในเวทีโลก ช่วงปี 2550 คนให้ความสนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ น้อยลง ขนาดตลาดเล็กลง เมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านและตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค
“ตลาดหุ้นประเทศอื่นมีการปรับตัวเป็นเอกชน เราก็ศึกษาเรื่องนี้ มีทั้งข้อคัดค้าน ข้อโต้แย้ง ผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนกระทั่งคิดว่าคงจะเดินในแนวทางของต่างประเทศไม่ได้ และคิดเรื่องแยก เงินกองทุนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเพื่อทํางานตลาดหลักทรัพย์แบบเอกชน อีกกลุ่มหนึ่งเพื่อวิจัยและพัฒนาตลาดทุนในทิศทางที่ทําให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งกลายเป็น CMDF ในวันนี้”
สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจลงมือทํา คือการออกหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนตัวใหม่ ๆ เข้ามา ตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX ได้เพิ่มสินค้าประเภทที่อ้างอิงทองคํา Gold Futures เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งการมีตราสารที่เรียกว่า ETF (Exchange Traded Fund) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในกลุ่มหุ้น โดย ETF ตัวแรก คือ ThaiDEX SET50 ETF หรือ TDEX เข้าซื้อขายวันที่ 6 กันยายน 2550 ทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุน ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันกับที่อื่นได้ด้วย รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ตามมาอย่าง SET50 Index Options และ Single Stock Futures นอกจากนี้ ได้ร่วมกับบริษัท ฟุตซี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด พัฒนาดัชนี FTSE SET Index series เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศอย่างครบถ้วน

“สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยความน่าสนใจ TFEX ณ ปัจจุบันถือว่าได้เติบโตขึ้นมาก มีสินค้าใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้น และนักลงทุนใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้”
ภัทรียาย้อนเล่าถึงอดีตว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ความสําคัญเรื่องความยั่งยืน หรือ ESG โดยเฉพาะเรื่อง Governance หรือ การกํากับดูแลกิจการมาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการกํากับดูแลให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุน และบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทํางานอย่างเป็นมืออาชีพ จวบจนถึงวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แข็งแกร่งขึ้น สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นความสําคัญเป็นลําดับถัดมาคือการทํากิจกรรมเพื่อสังคม
“ช่วงสิบปีที่ผ่านมา มุมมองเรื่องความยั่งยืน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อนได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย จนกลายมาเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ไม่หวังผลกําไรเพียงอย่างเดียว แต่คํานึงถึง 3 ปัจจัยหลักด้วยคือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ ‘ESG’ ซึ่งจะทําให้ความยั่งยืนหรือ Sustainability เกิดขึ้นได้จริง”
ภัทรียาเล่าต่อว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงนั้นมองทะลุเข้าไปถึงแก่นปัญหาของสังคม ก่อนจะหาแนวร่วมเพื่อช่วยกันทําให้สังคมที่คนมีโอกาสน้อยได้มีโอกาสมากขึ้น ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายจึงกลายมาเป็นการรวมกลุ่ม ‘CSR Club’ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพเพียงพอที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก หรือชุมชนที่ขาดโอกาส

ตลาดหลักทรัพย์ฯ โน้มน้าวให้บริษัทจดทะเบียนมีแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือ CSR โดยทํางานร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มด้อยโอกาสมากขึ้น จนเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม’ (Corporate Social Responsibility Institute: CSRI) ซึ่งต่อมา CSRI ได้เรียนเชิญ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการอํานวยการ CSRI ทําให้เกิดการพัฒนางานด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ นับจากนั้นเป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพนักงานที่มีคุณภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ตลอดจนความเข้มแข็งของทีมงานที่มีความสามารถในการทําเรื่องใหม่ ๆ เข้ามาทํางาน ร่วมกันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เชื่อมั่นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ความสําเร็จที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงคํามั่นที่ว่า ‘Make It Work for Better Future’
สะท้อนแบบอย่างที่ดี
ภัทรียาเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เติบโตขึ้นมาบนรากฐานที่ดี ยึดมั่นในการทํางานที่โปร่งใส เป็นมืออาชีพ และคํานึงถึงผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งนักลงทุน บริษัทจดทะเบียน และสมาชิก มากกว่าที่จะคิดถึงตัวเอง
“นี่คือสิ่งที่เราทํามาตลอด 50 ปี และอยากให้คงอยู่ต่อไป เพราะเป็นหลักการสําคัญที่ทําให้ผู้คนเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าทํางานโดยยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมก่อนผลประโยชน์ของตัวเอง สิ่งที่อยากฝากไว้อีกเรื่องคือเรื่องความยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม ทั้งที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัว คิดถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสําคัญ การดูแลเรื่องความซื่อสัตย์ โปร่งใส ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องสําคัญที่จะทําให้องค์กรมีความยั่งยืนและเติบโตได้ แม้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”
ภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตที่ภัทรียาอยากเห็นคือ การเป็นกลไกที่เป็นประโยชน์ของประเทศ เป็นองค์กรที่จัดสรรทรัพยากรให้กระจายออกไปสร้างประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ สมกับบทบาทของการเป็นศูนย์กลางของตลาดทุน และเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการกระจาย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจออกไปให้ทั่วถึงทุกคนในประเทศนี้
“ต้องกราบขอบพระคุณคุณศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนแรก ผู้เริ่มต้นปลูกฝังเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมมาให้ตั้งแต่วันแรกที่ทํางาน ซึ่งยังคงอยู่ใน DNA ของตัวเองจนถึงทุกวันนี้ และแนวทางนี้ก็ได้ถูกส่งต่อให้กับพนักงานรุ่นต่อ ๆ มา การที่ทุกคนมีพื้นฐานที่ดี มีต้นแบบที่ดี จะทําให้เราอยู่ในครรลองที่ถูกต้องนี้ตลอดไป ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่ไว้วางใจของนักลงทุน บริษัทจดทะเบียน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
เมื่อเริ่มต้นดี ดอกผลที่ออกมาก็ย่อมดีตามไปด้วย นี่คือถ้อยคําเปรียบเปรยอันลึกซึ้งคมคายของ ภัทรียา เบญจพลชัย ในฐานะพนักงานรุ่นแรก ๆ ที่มองเห็นการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาโดยตลอด