“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่เสมอ จนผ่านมาถึงทศวรรษที่ 5

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ถ้าเราไม่เปลี่ยนถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ”

ถ้อยคํายืนยันของ เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 12 ผู้ผลักดันตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ก้าวข้ามความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา ทั้งยังริเริ่มบุกเบิกนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดทุนด้วย

เกศรานับเป็นอีกคนหนึ่งที่ผูกพันกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มาอย่างยาวนาน ในฐานะอดีตผู้จัดการตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ทําให้มีประสบการณ์และความคุ้นเคยกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอย่างดี ที่สําคัญยังเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งถึง ความยากลําบากที่องค์กรต้องเผชิญ

ยุคของการสร้าง ท่ามกลางความท้าทาย

ภารกิจแรกที่เกศราได้รับมอบหมายหลังเข้าทํางานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการทําสิ่งใหม่ ก้าวข้ามสิ่งเดิม ๆ โดยได้ริเริ่มสร้างตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Thailand Futures Exchange: TFEX) ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่เริ่มดําเนินการ แม้แต่ในตลาดทุนอาเซียนเองก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้ากว่า 3 ปี เพื่อนําองค์ความรู้จากตํารามาสู่การปฏิบัติจริง จากทฤษฎีกลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ช่วยเปิดโอกาสการลงทุนรูปแบบใหม่ อันน่าตื่นตาตื่นใจให้กับโบรกเกอร์และนักลงทุน ในยุคที่ยังไม่รู้จักแม้กระทั่งอนุพันธ์ที่ซื้อขายในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่าง Futures และ Options

ด้วยพลังของทีมงานคนรุ่นใหม่ที่แข็งแกร่ง แปรเปลี่ยนอุปสรรคเป็นความท้าทาย มุ่งมั่นทํางานอย่างหนักจนกระทั่งประสบความสําเร็จได้อย่างน่าชื่นชม

เกศรายอมรับว่าเป็นความโชคดีที่ทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง และใช้เทคนิคสื่อสารทําความเข้าใจกับบุคคลภายนอกจนกลายเป็นประสบการณ์ล้ำค่า นําไปสู่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ใบสําคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants: DW) และตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt: DR) ในเวลาต่อมา

“การสร้างสินค้าใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุน รองรับการลงทุนหลากหลาย ทั้งตัวสินค้า ตลอดจนเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ตลาดทุนไทยมากขึ้น”

เริ่มต้นเพื่อให้เกิดความสําเร็จที่ยั่งยืน

ในช่วง 2 เดือนแรกหลังจากเกศราเข้ารับตําแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามเข้าร่วมใน United Nation Sustainable Stock Exchanges Initiative กลายเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในอาเซียน ลําดับที่ 2 ของเอเชียต่อจากญี่ปุ่น และลําดับที่ 13 ของโลก ที่ไปร่วมลงนาม เพราะ UN ให้ความสําคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และต้องการเข้าถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการไปถึงเป้าหมายของความยั่งยืนในประเทศต่าง ๆ จึงร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพัฒนาธุรกิจที่มีคุณภาพไปพร้อม ๆ กัน

“ตอนที่พี่เป็นผู้จัดการ เข้าใจว่าปีแรกมี 10 บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลกคือ Dow Jones Sustainability Index และปีสุดท้ายที่พี่อยู่จํานวนบริษัทก็ขยับขึ้นเป็น 17 บริษัท และปัจจุบันก็มากกว่านั้นแล้ว แต่ตอนแรก ๆ ก็ยากอยู่ ต้องพยายามสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งก็ทราบว่าเขาไม่มีคนทํางานเรื่องความยั่งยืนในช่วงเวลานั้น แต่เขาอยากทํา จนเมื่อเวลาผ่านไปก็พูดได้ว่า ประเทศไทยก้าวหน้ามาก”

จากความมุ่งมั่นที่ต่อเนื่องในการพัฒนาด้านความยั่งยืน จึงตามมาด้วยความสําเร็จส่วนหนึ่งที่การันตีด้วยรางวัล Best Sustainable Securities Exchange Southeast Asia Emerging Market 2017 จากวารสาร Capital Finance International ประเทศอังกฤษ

สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดดอกออกผล

“จากเดิมที่คนรู้จักตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะต้องการซื้อหุ้น โจทย์สําคัญคือทําอย่างไรให้สินค้าและบริการเข้าถึงทุกคนได้”

ตรงนี้เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนในสังคม และเข้าถึงคนได้กว้างขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพ ย่อมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และผลลัพธ์ที่ได้นําไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สอดคล้องกับ To Make the Capital Market Work for Everyone วิสัยทัศน์ที่เกศราเป็นผู้ริเริ่ม

ในยุคที่กระแสเทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นําเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทํางานในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้เป็น Digital Exchange อย่างแท้จริง ทั้งการริเริ่ม Digital IPO ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 รวมถึงการพัฒนา SET Application ในปี 2558 เพื่อเชื่อมต่อการเรียนรู้ด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกที่ทุกเวลา และการสร้างโอกาสในการลงทุนให้มากขึ้น ผ่านตลาด LiVE Exchange รวมถึงการที่บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จํากัด (TSD) พัฒนาบริการหลังการซื้อขาย โดยลดเวลาชําระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ให้สามารถดําเนินการได้รวดเร็วขึ้นใน 2 วันทําการ จาก T+3 เป็น T+2

ในยุคของเกศราเป็นช่วงเวลาของการริเริ่มทําหลายโครงการ เพื่อขยายไปสู่ผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง เช่น การให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปผ่าน SET Social Impact การแลกเปลี่ยน พัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพื่อสังคม และ LiVE Platform แหล่งรวบรวมองค์ความรู้และเครื่องมือเพื่อช่วยพัฒนาและส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ SMEs และ Startups

รวมทั้งตอกย้ำการเป็น GMS Connectors เพื่อเพิ่มความสามารถ และโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าการลงทุนของประเทศไทยในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วยหลักสูตร CMA-GMS Program เพื่อรองรับการเติบโตของภูมิภาค ช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้บริหารระดับสูงใน GMS และในส่วนของสินค้าและบริการ มีการเผยแพร่รายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่มีการดําเนินธุรกิจในภูมิภาค GMS (GMS Economic Exposure Universe) ซึ่งต่อยอดเป็น SET CLMV Exposure Index ในระยะต่อมา

“สิ่งที่เห็นเวลาไปประชุมต่างประเทศคือ ใคร ๆ ก็เห็นความสามารถของประเทศไทย เราจึงควรออกไปมีส่วนร่วมกับต่างประเทศบ้าง เพื่อเรียนรู้และรับข่าวสาร พัฒนาการต่าง ๆ ที่เป็นความก้าวหน้า โดยมีทีมงานติดตามไปด้วย จะได้ทําความรู้จักกับทางเมืองนอก นําประสบการณ์ของเขามาปรับใช้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าร่วมเป็นกรรมการสหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (World Federation of Exchanges: WFE) และเป็นเจ้าภาพประชุม AOSEF Investment Conference รวมถึงจัดการประชุม ANNA (Association of National Numbering Agencies) Extraordinary General Meeting ปี 2559 ซึ่งนับเป็นโอกาสแสดงความโดดเด่นของตลาดทุนไทยให้แก่องค์กรการเงินจากทั่วโลก พร้อมสนับสนุนบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเวทีสากล

อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง

เกศรายืนยันว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เคยหยุดนิ่งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมั่นใจได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทําหน้าที่ได้เป็นอย่างดี โดยหลักคิดที่สําคัญคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ประโยชน์กับทุกคนอย่างทั่วถึง ไม่ได้จํากัดเฉพาะแค่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และโบรกเกอร์ แต่หมายถึงการที่คนในทุกภาคส่วนรู้จักบริหารจัดการเรื่องการเงินได้อย่างถูกต้อง

“เรามองไปข้างหน้าอยู่เสมอ ซึ่งหลายเรื่องเป็นการลองผิดลองถูก เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยน และสร้างสิ่งใหม่ ๆ สุดท้ายก็ช่วยให้ตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“ในอนาคตเชื่อว่าเราก็ยังจะโอบรับการเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ เพราะคนที่ทํางานในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ ติดตามความเคลื่อนไหวของเทรนด์โลกอยู่ตลอดเวลา ทุกคนทํางานโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทําให้งานยาก ๆ สามารถประสบความสําเร็จ และช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง”

ความท้าทายในลําดับถัดไปคือทําอย่างไรให้คนภายนอกมีความเข้าใจในสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทํา รู้เท่าทันและมีเหตุผลในการลงทุนเพียงพอ ในยุคที่ Digital Exchange เดินทางมาถึง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกศรา มัญชุศรี อยากฝากเอาไว้แก่คนรุ่นหลัง ในฐานะผู้มีบทบาทสําคัญในการผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับตลาดทุน

“สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ เรายังคงเคารพนับถือคนที่สร้างตลาดหลักทรัพย์ฯ เราตั้งชื่อห้องประชุมเพื่อระลึกถึงศาสตราจารย์ สังเวียน อินทรวิชัย อดีตประธานกรรมการ คุณศุกรีย์ แก้วเจริญ และคุณเสรี จินตนเสรี เราตั้งชื่อห้องสมุดเพื่อระลึกถึง ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ ถือว่าคนที่เคยอยู่ ทําดีมา คนที่ยังอยู่และคนที่จะมาอยู่ในอนาคตต้องยอมปรับปรุงตัวเอง ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา การทํางานที่สนุกและรู้สึกรักในงานที่ทํา ส่งผลให้งานออกมาด้วยดี และที่สําคัญอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ เพราะทุกก้าวของชีวิต คือการเปลี่ยนแปลง”