ESG : Now or Never?
ภารกิจสําคัญประการหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือการพัฒนาตลาดทุน ให้ยั่งยืนด้วยการช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรงแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน
ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการช่วยยกระดับคุณภาพและพัฒนาศักยภาพให้ธุรกิจสามารถเติบโตและมีผลประกอบการที่ขยายตัวต่อเนื่องไปพร้อมกับ การดําเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักบรรษัทภิบาล
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มการพัฒนาบรรษัทภิบาล (Corporate Governance: CG) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2537 ด้วยการกําหนดให้มีกรรมการอิสระในคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนและในเวลาต่อมาได้มีการขยายไปสู่การเป็น ‘องค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยื่น ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสําคัญในการบริหารจัดการความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
เหตุผลสําคัญที่ทําให้บริษัทต้องดําเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สืบเนื่องมาจากการที่ธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน เช่น การพัฒนา เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสําคัญต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน ส่งผลให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การเปลี่ยนขั้วอำนาจ เศรษฐกิจของโลก (Geopolitics) ที่ทําให้เกิดคู่แข่งใหม่ทางธุรกิจ และมีการนํากฎระเบียบ รวมถึงนโยบายทางภาษีมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางการค้ามากขึ้น
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร ได้กลายเป็นความท้าทายใหม่ในโลกปัจจุบันและอนาคต โจทย์สําคัญคือทําอย่างไร เราจึงจะมีทรัพยากรและพลังงานเพียงพอต่อความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการหาวิธีรับมือภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
เหล่านี้คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลก ดังนั้น จึงมีความจําเป็นที่องค์กรต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรขององค์กรและผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในที่นี้จึงหมายถึง การที่องค์กรให้ความสําคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายและแผนธุรกิจภายใต้หลักบรรษัทภิบาล และสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินทุนและผลกําไรที่ใช้ในการขยายกิจการ มีผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายขอบเขตให้ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน
ร่วมพัฒนาธุรกิจให้มีความรับผิดชอบ
และการลงทุนอย่างยั่งยืน
แนวคิดสําคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามผลักดันและนําเสนอข้อมูลความรู้สู่สาธารณะอย่างสม่ําเสมอ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือเรื่อง “การลงทุนอย่างยั่งยืน”
โดยนิยามแล้ว การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) คือแนวคิดการลงทุนที่คํานึงถึงการดําเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของธุรกิจ ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การที่บริษัทมีผลการดําเนินงานด้าน ESG ที่ดี ส่งผลให้บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม มีศักยภาพในการแข่งขัน และได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ซึ่งจะช่วยให้ผลการดําเนินงานทางการเงิน (Financial Performance) ของธุรกิจเป็นไปในทางที่ดี อยู่รอดได้และเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น
การลงทุนอย่างยั่งยืนมีพัฒนาการมายาวนาน โดยมีรูปแบบหรือกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย เช่น การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอด้วยการคัดกรองปัจจัยเชิงลบ (Negative Screening) เช่น ไม่ลงทุนในธุรกิจที่อาจขัดต่อศีลธรรมจรรยาที่ดีของสังคม การคัดกรองปัจจัยเชิงบวก (Positive Screening) เช่น เลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยาหรือมีความโดดเด่นในการดําเนินงานด้าน ESG เป็นต้น ปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
สําหรับประเทศไทย การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นที่สนใจสําหรับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนสถาบัน ที่มีการนําประเด็นผลการดําเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนกันมากขึ้น