“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยุคใหม่ ต้องสนับสนุนให้ลงทุนได้ทุกที่
เปิดโอกาสการระดมทุนให้ทุกขนาดธุรกิจเป็นประโยชน์กับทุกคน”

“หากมองย้อนกลับไปในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และอาจกล่าวได้ว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยซ้ำ”

เหตุผลที่ทําให้ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 13 มั่นใจเช่นนั้น เป็นเพราะว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สภาพคล่องของตลาดทุนไทยอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดในอาเซียน ขณะที่การระดมทุนก็ติดอันดับ Top 5 ของเอเชียมาโดยตลอด

“ปัจจัยด้านตัวเลขสะท้อนว่าเราทํามาได้ดีมาก ๆ มีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น และมีนักลงทุนเข้ามาใช้ตลาดทุนไทยได้มากขึ้น”

คุณภาพและการเข้าถึงง่ายคือเป้าหมาย

หนึ่งในเป้าหมายสําคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการส่งเสริมการเข้าถึง ‘ทุน’ ได้โดยง่ายให้แก่ธุรกิจทุกขนาด ไร้ข้อจํากัด ทําให้บริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถเข้ามาระดมทุนหรือใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้อย่างเท่าเทียมกัน

ภากรย้ำว่า บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคนี้ ควรเป็นทางเลือกหลักของการลงทุนหรือการระดมทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ต้องตอบโจทย์ได้ในหลายมิติ คือ 1. อยากทําเมื่อไหร่ก็ได้ 2. ใช้เวลาไม่นานในการระดมทุน และ 3. ไม่จํากัดขนาดของธุรกิจ

“เมื่อก่อนเรามักจะพูดว่าถ้าเศรษฐกิจแย่ นักลงทุนแย่แน่ แต่ถ้าเราเพิ่มทางเลือกให้มีมากขึ้นและเป็นธุรกิจที่ดี นักลงทุนจะกระจายความเสี่ยงได้ อย่างน้อยเขาสามารถที่จะเลือกลงทุนได้ในธุรกิจและผลิตภัณฑ์การเงินหลากหลายประเภท”

เป้าหมายในการสร้างตลาดทุนคุณภาพที่เข้าถึงง่ายเป็นแรงผลักดันที่ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจทุ่มเทกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน เพื่อสร้างระบบเทคโนโลยีทันสมัยที่จะรองรับโอกาสการลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบซื้อขายหลักทรัพย์ ระบบโอนเงิน (FinNet) ระบบซื้อขายกองทุนรวม (FundConnext) รวมถึงระบบอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม ทั้งการเปิดบัญชีได้แบบไม่ต้องไปที่บริษัทหลักทรัพย์หรือระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนเพิ่มความปลอดภัย (e-KYC)

“การลงทุนหรือการระดมทุนยุคใหม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก อยากทําเมื่อไหร่ก็ทําได้ ไม่จําเป็นจะต้องใช้เวลานานในการระดมทุน และไม่ได้จํากัดว่าจะต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก ทุกคนสามารถทําได้หมด ตลาดทุนสามารถตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ถ้าอยากเปิดบัญชี คุณไม่จําเป็นต้องไปที่บริษัทหลักทรัพย์ แต่สามารถเปิดผ่าน Electronic Open Account โดย Settrade ที่มีการทํา e-KYC เพื่อช่วยตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูล หลังจากนั้นจะเลือกลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวม ก็สามารถทําได้ผ่านระบบออนไลน์ตามเวลาที่ให้บริการ

“ถ้าเราท้าให้ตลาดทุนสะดวกได้แบบนี้ คนก็จะใช้ตลาดทุนมากขึ้น ส่งผลให้มีทางเลือกในการระดมทุนและการลงทุนมากขึ้น และผลประโยชน์จะตกอยู่กับนักลงทุน ทุกคนสามารถใช้ตลาดทุนได้ด้วยต้นทุนที่ต่ําลง”

ภากรว่า ‘Real Sector’ คือหนึ่งในปัจจัยสําคัญของตลาดทุน การที่บริษัทจดทะเบียนสามารถเติบโตได้ด้วยการกู้ธนาคาร ออกตราสารหนี้ และระดมทุนในตลาดหุ้น จะทําให้เศรษฐกิจโตขึ้นได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ช่วงห้าปีที่ผ่านมา การระดมทุนในประเทศไทยอยู่ที่ปีละประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดทุนไทยถือเป็นอันดับต้น ๆ ของการระดมทุนในเอเชีย แม้แต่ช่วงวิกฤต COVID-19 หลายบริษัทเลือกที่จะระดมทุนเพื่อขยายกิจการในต่างประเทศออกไปทั่วโลก ซึ่งพบว่า บริษัทไทยกว่า 800 บริษัท มีรายได้โดยเฉลี่ยจากต่างประเทศทั้ง Regional หรือ Global Company ประมาณ 30-40%

“เมื่อ 4-5 ปีก่อน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนักลงทุนบุคคลอยู่ประมาณ 2 ล้านบัญชี ปัจจุบันมี 5 ล้านบัญชี และมากกว่า 3 ล้านคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับจํานวนประชากรไทยทั้งหมด 60-70 ล้านคน แต่จะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่โตขึ้นสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นนักลงทุนสามารถลงทุนได้หลากหลายไม่ใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น”

ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาตลาดทุนตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ภากรรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วน ‘ปูทาง’ ให้นักลงทุนและผู้ประกอบการทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ฯ

เชื่อมต่อโลกการลงทุนคือโอกาส

ในขณะที่นักลงทุนไทย เมื่อก่อนอาจจะยังจํากัดการลงทุนเฉพาะในประเทศ เนื่องจากขั้นตอนขออนุญาตที่ยุ่งยาก แต่ปัจจุบันสามารถลงทุนได้ทั่วโลกผ่าน DR, DRX, ETF ที่ออกโดยสถาบันตัวกลางไทย หรือระบบออนไลน์ก็ทําได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าทั้งนักลงทุนไทย ทั้งบริษัทจดทะเบียนไทยต่างได้ประโยชน์จากการใช้ตลาดทุน

ภากรย้ำว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสําคัญกับการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ผ่านผลิตภัณฑ์ DR และ DRX ช่วยเปิดโอกาสการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ลดความซับซ้อนในการนําเงินออกนอกประเทศ และชี้อขายได้โดยตรงด้วยเงินสกุลบาทผ่านตัวกลางในประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพผู้ร่วมตลาดให้เติบโตไปด้วยกัน

“เรื่องเหล่านี้คือสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสําคัญและพัฒนามาตลอดเพื่อให้ Stakeholders หรือผู้มีส่วนได้เสีย สามารถใช้ตลาดทุนได้โดยไม่จําเป็นต้องลงทุนซ้ำซ้อน”

ความยั่งยืนคือรากฐาน

สําหรับบริษัทจดทะเบียนไทยนอกจากจะขยายกิจการ ทํากําไรได้ดีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทําได้ดีมาก ๆ คือการทําธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ต้องคํานึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสําคัญอย่างต่อเนื่อง นอกจากการพัฒนาคุณภาพบุคลากรในตลาดทุน และการทําให้นักลงทุนไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนและความเสี่ยง

เพราะในอนาคตการเชื่อมต่อของตลาดทุนทั่วโลกจะกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่ตลาดโลกหันมาให้ความสําคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามหากลไกต่างๆ เข้ามาสนับสนุนให้ธุรกิจมั่นคงอยู่ได้บนรากฐานของความยั่งยืน

ภากรวิเคราะห์ว่าสิ่งที่จะทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาต่อไปได้ในวันข้างหน้า ควรให้ความสําคัญกับปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของตลาดทุน นั่นคือวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน หรือ ESG

“ตลาดทุนไทยต้องใช้จุดแข็งด้านตัวเลขผลประกอบการ ซึ่งเราทําได้ดีอยู่แล้ว มาเสริมด้วยคุณภาพ โดยผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินกิจการอยู่บนฐานของความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกลไกสําคัญที่เพิ่มจุดแข็งด้านคุณภาพให้แก่ตลาดทุน

“การทําธุรกิจตลาดทุนในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตต้องมองเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้น ความเสี่ยงที่ว่านี้ไม่ได้จํากัดเฉพาะการบริหารความเสี่ยงเฉพาะธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เป็นการบริหารความเสี่ยงในหลาย ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ความขัดแย้ง ภาวะโลกร้อน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบกับประเทศไทย กระทบกับความสามารถในการทํากําไรของบริษัทจดทะเบียน กระทบนักลงทุนที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น”

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ภากรยืนยันว่าการขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้ 3 แกนหลักอันประกอบด้วย Digitalization, Connectivity & Inclusiveness และ Sustainability คือหนทางที่จะนําพา
ตลาดทุนไทยไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนได้

ถามว่าความภาคภูมิใจที่สุดในฐานะผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ฯ คืออะไร ภากรนั่งคิดชั่วครู่ ยิ้มกว้าง ก่อนตอบอย่างเสียงดังฟังชัด

“ความภาคภูมิใจของผมมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. ทําให้ตลาดทุนไทยเติบโตได้โดยมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัดจากความสามารถในการทํากําไรและประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ 2. ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งทําให้มีคนที่ได้ประโยชน์จากตลาดทุนมากขึ้น และ 3. การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนซึ่งไม่ได้มองเฉพาะบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น แต่เป็นการมองไปถึงนักลงทุนด้วย การมี Financial Literacy หรือมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน และเลือกลงทุนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม”

ประโยคส่งท้ายของ ภากร ปีตธวัชชัย เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจยิ่ง ในฐานะกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือการทําให้ตลาดทุนไทยยุคใหม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ ตอกย้ำสโลแกนขององค์กรที่ต้องการปูทางสู่อนาคตที่ว่า 

“To Make The Capital Market ‘Work’ for Everyone”

“ผมมักจะพูดอยู่เสมอว่าต้องทําให้
ข้อมูลการลงทุนสามารถเชื่อมต่อและถูกใช้
ในการวิเคราะห์ว่าเป็นโอกาสหรือความเสี่ยง
ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ผู้ใช้ข้อมูลจะ Balance ได้
ระหว่างโอกาสและความเสี่ยงนั้น”