“ท่ามกลางโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง
คือสินค้าที่มี Competitiveness และการสร้างสมดุลระหว่างนักลงทุนด้วย”
พิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 18 มองว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยพื้นฐานแล้วก็คือตลาดประเภทหนึ่ง เป็นสถานที่ที่ผู้คนนําสินค้ามาวางขาย มีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย สําหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีทั้งฝั่งนักลงทุน ฝั่งผู้ประกอบการ และผู้ทําหน้าที่เป็นตัวกลางต่าง ๆ เพื่อให้การซื้อขายง่ายขึ้น
ในมุมมองของพิชัย จึงเห็นว่าก้าวเดินต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องให้ความสําคัญกับสินค้าที่หลากหลาย เครื่องมือที่ทันสมัย และส่งเสริมการสร้างความเชื่อมั่นรวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุน เพื่อให้มีองค์ความรู้ที่ครอบคลุมและเพียงพอ
สมดุลระหว่างนักลงทุนคือลดแต้มต่อ เพิ่มทางเลือกและสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม
“นักลงทุนแต่ละกลุ่มมีความชอบของตัวเอง เช่น นักลงทุนที่ซื้อปริมาณมากและถือยาวมักจะเป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อยก็จะมีพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งตลาดทุนไทยมีเอกลักษณ์ตรงที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยค่อนข้างมาก ซึ่งผมมองว่าพวกเขาน่าสนใจ นักลงทุนรายย่อยมีองค์ความรู้ของเขา มีพลวัต มีชีวิตชีวา ลงทุนเอง คิดเอง ดีบ้าง ผิดพลาดบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องปกติ”
สําหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ พิชัยมองว่าถึงแม้ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนอยู่ 800 กว่าบริษัท แต่บริษัทที่คนรู้จักจริง ๆ นั้น มีเพียง 100 แห่ง เนื่องจากกลุ่มนี้อยู่ในดัชนีต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนบริษัทที่เหลือนักลงทุนอาจไม่มีความคุ้นเคย เนื่องจากไม่ค่อยมีข่าว จะมีเฉพาะนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าไปเล่น นั่นหมายความว่ายังมีบริษัทอีกเป็นจํานวนมาก ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็น SMEs บริษัทเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลให้แสดงศักยภาพได้
“ผมเชื่อว่า ในบริษัทที่เหลือกว่า 600 แห่ง เหล่านั้นต้องมีบริษัทที่มีศักยภาพ ปัญหาคือเขาอยู่คนเดียวและมีขนาดเล็กเกินไป ไม่มีข้อมูลเพียงพอจึงทําให้ไม่รู้ว่าอาจมีอีกบริษัทหนึ่งที่สามารถทําธุรกิจร่วมกัน สามารถ Synergy กันได้ หรือรวมตัวกันเพื่อเป็นบริษัทขนาดกลางแล้วจะมีโอกาสทําอะไรได้อีกมาก”
พิชัยเสนอว่าควรมีการเพิ่มบทวิเคราะห์ โดยใช้ฐานข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้เป็นหลักทรัพย์ ที่ไม่ว่าใครเดินผ่านก็ต้องเหลียวกลับมาดู เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าที่เปิดพื้นที่ให้นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ได้เดินเที่ยวชมและซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือใหม่ ๆ ในตลาดทุน เช่น High Frequency Trading เมื่อประเมินแล้วว่าหลาย ๆ ประเทศก็มีใช้ ต้องเปิดโอกาสให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยได้ใช้อย่างทั่วถึงและในราคาที่เข้าถึงได้
“เราไม่ได้เอาคนที่เก่งและวิ่งเร็วมาวิ่งให้ช้าลงอยู่กับคนไม่เก่ง แบบนี้ตลาดไม่พัฒนา สําหรับคนที่ไม่เก่ง เราต้องให้เขารู้ข้อมูลมากขึ้น และที่สําคัญคนเก่งก็ต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วย หากทําผิดต้องมีบทลงโทษเราต้องสร้าง Trust และ Confidence ให้เกิดขึ้น ความสมดุลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะตามมาเอง”
Upgrade สินค้าเดิม เร่งสร้างสินค้าใหม่ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศ
“โลกใบเดิมต้องมีการทบทวนและเปลี่ยนแปลง เช่น สินค้าเดิมมีอะไรบ้างที่สามารถอัพเกรดได้ ต้องดึง S-curve เล็ก ๆ ขึ้นมา เพื่อยืดอายุทดแทนช่วงเวลาที่เราอาจจะไม่มีสินค้าใหม่ หรือ ไม่มีสินค้าที่มี Competitiveness ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ให้สามารถยืนอยู่ได้อีก 15 ปี เพราะผมมองว่าการสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ต้นน้ำจริง ๆ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ควรให้เวลากับมันสักนิด
“สิ่งที่บ้านเราทําได้ดี เป็นสินค้าที่สร้างได้เร็วและเป็นธรรมชาติของประเทศไทย นั่นคือภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเราจะติดอันดับต้น ๆ ในการจัดอันดับอยู่เสมอ เช่น เราเก่งในเรื่อง Wellness Tourism ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ดังนั้น ต้องกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นภาคส่วนที่นําเงินเข้าประเทศได้เร็ว เพื่อที่จะกระจายไปถึงเส้นเลือดฝอยทาง เศรษฐกิจ และไปถึงมือผู้คนจํานวนมากที่เข้ามาทํางานในอุตสาหกรรมนี้”
พิชัยเชื่อมั่นว่าโอกาสทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของไทยยังมีอยู่เสมอ
“เราอยู่ในภูมิภาคที่แวดล้อมด้วยคน 700 ล้านคนใน CLMVT และอยู่ในภูมิภาคที่มีความเจริญสูงสุดคือเอเชีย สินค้าไม่จําเป็นต้องอยู่ในไทย แต่ผ่านไทยลงไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือเลี้ยวออกไปทางทะเลอันดามันได้ นี่คือเสน่ห์ของเรา ดังนั้นหากจะผลิตสินค้า เราต้องเลือก Sector ที่ไม่ซ้ํากับจีน หรืออาจเป็น Sector ที่จะส่งเสริมเกื้อหนุนกัน หรือต้องปรับประเทศให้รู้จักกลไกการค้าขายมากขึ้น เป็น Trading Nation ซื้อมา ขายไป หรือให้ผ่านแบบเก็บค่าผ่านทาง”
ขยายผลสู่ตลาดแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตผ่าน Digital Platform
จากโลกใบเดิมสู่โลกใบใหม่ เทคโนโลยี กระแสสังคม และ แนวความคิดใหม่ ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล นําการเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตรวมถึงตลาดทุนด้วยเช่นกัน เมื่อย้อนกลับมามองตลาดในปัจจุบัน พิชัยเห็นว่าไทยต้องปรับตัว ไม่ควรซื้อขายสินค้ากันด้วยระบบหรือแพลตฟอร์มเดิม โดยจําเป็นต้องเคลื่อนไปทาง Digital Platform ให้มากขึ้น ซึ่งตลาดคาร์บอนเครดิตสามารถมีบทบาทนําในเรื่องนี้
ปัจจุบันตลาดคาร์บอนเครดิตมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีการซื้อขายกันมากในยุโรป สําหรับไทย เงื่อนไขที่จะทําให้ตลาดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นและมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย คือต้องได้รับการยืนยันรับรองโดยคนที่เชื่อถือได้ ซึ่งไทยยังไม่มีกลไกนี้ ทําให้คาร์บอนเครดิตที่ตลาดยุโรปขายกันกว่า 70 ยูโรต่อตัน แต่สําหรับประเทศไทย ปัจจุบันบางบริษัทดําเนินการกันเอง ขายกันเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะขายได้ก็ทําให้ราคาอยู่ที่ราว 60-70 บาทต่อตัน แตกต่างกับราคาที่ตลาดยุโรปมาก หากสามารถเชื่อมต่อตลาดคาร์บอนเครดิตของเรากับตลาดทั่วโลกและซื้อขายระหว่างกันได้ เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก เป็นสิ่งที่โลกต้องการ
พิชัยยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถใช้ Digital Platform ได้คือ การซื้อขายที่ดิน หากสามารถนําโฉนดที่ดินของไทยเข้าสู่ Digital Form ได้ โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่ดูแล Big Data ได้ ตรวจสอบได้ว่าเป็นโฉนดจริง การแลกเปลี่ยนก็จะง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สุดท้ายพิชัยให้วิสัยทัศน์ว่า จําเป็นที่จะต้องทบทวนยุทธศาสตร์หลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มองในภาพใหญ่ ๆ และหาความร่วมมือเพื่อผลักดันวาระสําคัญร่วมกับภาครัฐ เพราะแน่ใจว่าเป็นการพัฒนาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 18 กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด