ห้าทศวรรษมาแล้วที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางการระดมทุนและซื้อขายหลักทรัพย์ของประเทศ มีบทบาททั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมกัน หลักการทํางานสําคัญที่ทําให้ตลาดทุนเติบโตและดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคก็คือการปรับตัวเพื่อแข่งขันได้ในบริบทที่เปลี่ยนไป ความมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของสังคม และหัวใจสําคัญคือการรักษาความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย
ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยสําคัญที่ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนหยัดได้จนถึงวันนี้และเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ค้ำจุนระบบเศรษฐกิจของประเทศและพร้อมเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพ สําหรับประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 17 คือการเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
“ยกตัวอย่างช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตประมาณปี 2530-2540 ช่วงนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตอบสนองความต้องการระดมทุนของภาคธุรกิจเพื่อลงทุนเพิ่ม ในช่วงเศรษฐกิจเติบโตปีละ 8-9% เราเห็นความคึกคักในการลงทุน ต่อมาหลังปี 2550 ความต้องการระดมทุนและการลงทุนมีการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คนไทยสนใจลงทุนในต่างประเทศและมีการให้ความสําคัญด้านอื่น ๆ ด้วย
ได้แก่ ESG เมื่อประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงปรับตัวและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป
“วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นบทเรียนที่ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องกลับมาทบทวนระบบกํากับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจกับนักลงทุน ถือเป็นเหตุการณ์สําคัญซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี เพราะทุกฝ่ายร่วมมือกัน”
อีกหนึ่งผลงานสําคัญที่ตอกย้ําให้เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมพร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คือการทําให้ตลาดทุนมีความยืดหยุ่นรองรับหรือทนทาน (Resiliency) ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงและกระจายความเสี่ยงท่ามกลางสารพัดความผันผวนที่เกิดขึ้น เรียกว่าเมื่อใดที่วิกฤตการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลง ก็ยังสามารถดําเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น
“คนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับตัว ไม่ใช่ว่า 50 ปีก่อนเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม ขณะเดียวกันบุคลากรในภาคธุรกิจเองก็ต้องมีความตื่นตัว Upskill และ Reskill ให้มีความพร้อม แสวงหาความรู้อยู่เสมอ ทั้งในเรื่องของการใช้เทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ให้คําแนะนํากับลูกค้า”
แข่งขันได้ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
หลังปี 2550 ระบบเศรษฐกิจและสังคมเริ่มมีความสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพัฒนาการขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาลงทุน การสร้างธุรกิจที่เรียกว่า ‘New S-curve’ หรือธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตในอนาคต เช่น ธุรกิจ Startups การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ระบบชําระราคา (Clearing System) การปรับปรุงระบบซื้อขาย (New Trading System) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดทุนไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และบริษัทจดทะเบียน
เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปลี่ยนระบบซื้อขายหลักทรัพย์ให้ทัดเทียมกับสากล ด้วยการร่วมมือกับระบบซื้อขายชั้นนําของโลกอย่าง Nasdaq รวมถึงให้ความสําคัญกับการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก การสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เช่น mai, LiVE Exchange เพื่อขยายช่องทางการระดมทุนให้กับธุรกิจทุกขนาด ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ บุคลากรในภาคธุรกิจ ร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ตลอดจนการให้ความรู้กับประชาชน ทั้งนักลงทุนที่เชี่ยวชาญอยู่แล้วและนักลงทุนหน้าใหม่ที่กําลังสนใจได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น
“ปัจจุบันนักลงทุนไทยและต่างประเทศมีทางเลือกการลงทุนมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในประเทศ ยังสามารถลงทุนในตลาดอื่น ๆ ได้ แม้กระทั่งบริษัทจดทะเบียนก็สามารถเลือกจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใดก็ได้ทั่วโลก ตลาดหลักทรัพย์ไทยก็จะต้องสร้างความน่าสนใจ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้ ในอนาคต นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดทุนก็มีหลายประเภท
เราก็ต้องช่วยปลูกฝังและสร้างนักลงทุนคุณภาพขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนอย่างยั่งยืน รวมถึงสถาบันตัวกลาง ซึ่งเป็นบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้สามารถขยายกิ่งก้านตลาดทุนเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายที่แข็งแกร่งผ่านโครงสร้างพื้นฐาน”
ตอบสนองความต้องการของสังคม
สําหรับเรื่องการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยคํานึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ให้ความสําคัญต่อประเด็นนี้อย่างจริงจัง ด้วยการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนของไทยเข้าไปอยู่ในดัชนีสําคัญของโลกอย่าง DJSI ได้สําเร็จ รวมถึงสร้างระบบฐานข้อมูลให้ภาคธุรกิจนําไปใช้ประโยชน์ หรือแม้แต่ความพยายามที่จะสร้างบุคลากรที่มีความรู้ผ่าน ESG Academy อันเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้ประสบความสําเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขับเคลื่อนตลาดทุนสู่ความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การพัฒนากฎเกณฑ์และองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน การพัฒนา CG การจัดตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) การพัฒนาธุรกิจและสังคมให้ตระหนักเรื่อง CG และ CSR และนําไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการให้ความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน การลงทุน แก่ Stakeholders มาอย่างต่อเนื่อง ผ่าน SET Education Platform อาทิ โครงการ Happy Money, SET Investnow, ห้องเรียนผู้ประกอบการ ห้องเรียนผู้ประกอบวิชาชีพ ห้องเรียนบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการร่วมมือกับบริษัทจดทะเบียน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคสังคมในการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน ผ่าน Climate Care Platform