สภาธุรกิจตลาดทุนไทยประกอบด้วย 7 องค์กรหลักของตลาดทุนไทย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาตลาดทุนร่วมกัน ได้แก่ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เล่าถึงบทบาทของสภาธุรกิจตลาดทุนไทยว่า “เราก็เป็นศูนย์กลาง ที่ให้ทุกฝ่ายมาหารือร่วมกันว่าตลาดทุนไทยควรจะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไร ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นหนึ่งใน 7 องค์กรของเราที่มีความสําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างพลัง เช่น เราได้จัดหลักสูตรการอบรมมากมายให้แก่ CEO, CFO, CIO และคณะกรรมการตรวจสอบต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสําคัญที่ทําให้บริษัทจดทะเบียนมีความเข้มแข็งมากขึ้น”
เมื่อถามถึงการเดินทางของตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมากอบศักดิ์มองว่าตลาดทุนไทยมีการเติบโตที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นองค์ประกอบที่สําคัญยิ่งของระบบการเงินไทยและมีส่วนสําคัญในการพัฒนาประเทศมาอย่างดียิ่งในช่วงที่ผ่านมา
“ถ้าย้อนไปดูภาพในอดีต บริษัทใหญ่ ๆ ขยายกิจการและเติบโตขึ้นมาได้จากการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ก็ได้รับ การจัดกลุ่มใน Fortune 500 ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ 500 อันดับแรกของโลก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นฐานสําคัญให้บริษัทสามารถระดมทุนได้ นับว่าเป็นกลจักรที่สําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง
“ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน ก็นับว่ามีความหลากหลายมีวิวัฒนาการที่สําคัญจากหุ้น อนุพันธ์ พันธบัตร รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งเป็นสินค้าเกษตรและทองคำ รวมถึงการพัฒนา ให้สามารถนำหุ้นต่างประเทศเข้ามา Listed ในประเทศไทย การคิดเรื่องของ Dual Listing ผมคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยก็มีความครบถ้วนมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ในยุคที่โลกการลงทุนเชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องแข่งกันกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก หมายความว่าการเดินต่อไปข้างหน้าต้องปรับตัวมุ่งสู่อนาคตจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป
การจะสร้างความสามารถในการแข่งขันตลาดทุนไทย เราต้องเตรียมพร้อมต่อการรองรับสินทรัพย์ในอนาคตให้หลากหลายเพียงพอ
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องตัดสินใจว่าจะทําอย่างไรให้ตลาดทุนไทยมีสินทรัพย์แห่งอนาคต บางสินทรัพย์ก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่เหมาะกับการลงทุน แต่ปัจจุบันมีความพร้อม และเป็นที่สนใจมากขึ้นแล้ว
“นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์ทางเลือก อย่างเช่น ของสะสมต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่ได้มีสภาพคล่องเท่าสินทรัพย์อื่น ๆ แต่ก็มีนักลงทุนจํานวนมากให้ความสนใจทุกวัน แม้แต่บ้าน คอนโดฯ อสังหาริมทรัพย์ สามารถพัฒนาเป็นกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ได้แล้ว และอาจนำมาซื้อขายในตลาดหุ้นในรูปแบบ Investment Tokens ได้เช่นเดียวกัน
“จากทั้งหมดที่ว่ามา ผมคิดว่าคําถามสําคัญที่ต้องตอบให้ได้คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเดินหน้าต่อกับสินทรัพย์ใหม่ ๆ เหล่านี้อย่างไร?”
นอกจากนี้ กอบศักดิ์ยังได้ให้มุมมองที่แหลมคมต่อไปว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยและตลาดทุนไทยกําลังเข้าสู่โค้งสําคัญ ซึ่งเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปรียบเสมือนกําลังล่องแก่งไปสู่คลื่นและโขดหินมากมาย
“ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่สําคัญที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ฯ เราต้องคิดว่าเราจะปรับตัวอย่างไร แล้วจะเตรียมการเพื่ออนาคตอย่างไร ก็มีโอกาสที่ว่าในอนาคตเพื่อนๆ ของเรา ในภูมิภาคอาจจะล้มหายตายจากไป ถูกคนอื่นเข้ามาซื้อ หรือถ้าเกิดไม่มีใครซื้อก็จะถูก Marginalized กลายเป็นตลาดเล็ก ๆ ไม่มีความสําคัญ สิ่งที่ผมคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนไปในอนาคต เช่น การปรับกฎเกณฑ์บางอย่างให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อให้ต้นทุนการดําเนินงานมีความคล่องตัวขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ ก.ล.ต. ควรจะร่วมมือกันทําระบบ Digital Channel ในการติดต่อทางการของตลาดทุนทั้งหมดเพื่อลดต้นทุน อีกประการที่สําคัญมากคือการจัดการข้อมูล
“การดําเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวข้องกับ Asset ในตลาดทุนที่มีค่าอย่างยิ่ง เราต้องมีวิธีดําเนินการที่แตกต่างจากเดิม จากแต่ก่อนใช้ระบบ Data แบบเดิมก็ปรับการทํางานให้เป็น Data Lake แบบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการจัดเก็บข้อมูล
“ถ้าเราเลือกทางที่ดีใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ได้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะสามารถก้าวไกลไปเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่สําคัญในภูมิภาคได้เรามีศักยภาพที่สามารถไปได้เพียงแต่เราเปิดประตูรับโอกาสที่เปิดขึ้นหรือไม่”
กอบศักดิ์ให้แง่คิดว่าตลาดหลักทรัพย์จําเป็นต้องพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซนให้ได้และพยายามเพิ่มเสน่ห์ของตลาดทุนไทยด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ในธุรกิจแห่งอนาคต
“ผมบอกเลยครับว่า วันนี้ตลาดหุ้นอเมริกา เมื่อเทียบกับเมื่อ 50 ปีที่แล้วต่างกันอย่างลิบลับ จากเมื่อก่อนธุรกิจใหญ่ ๆ ต้องพูดถึง Ford หรือ JP Morgan ขณะนี้ Top 10 ก็คือ Microsoft, Apple, Amazon, Meta, Tesla, Nvidia เป็นต้น พวกนี้คือหุ้นเทคโนโลยีในอนาคต คําถามก็คือว่าเราจะทํายังไงให้ประเทศไทยมีหุ้นที่เป็นอนาคตเหล่านี้ ซึ่งมีโอกาสอย่างมากในการจะก้าวขึ้นไปกลายเป็นสินทรัพย์ที่สําคัญถ้าเราตอบโจทย์นี้ไม่ได้ เราก็จะกอดคอกัน แล้วก็จะจมไปด้วยกัน กลายเป็นคนที่โลกลืม ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้นแน่นอน”
นอกจากการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตลาดทุน กอบศักดิ์อยากชักชวนให้คิดถึงมิติทางสังคมเพิ่มขึ้น
“ทําอย่างไรที่ตลาดทุนจะออกแบบเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้คนกลุ่มเปราะบางในสังคม อย่างเช่น คนสูงวัย เด็ก คนยากจน ฯลฯ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น”
อีกเรื่องที่สําคัญและกําลังเป็นประเด็นปัญหาท้าทายใหม่ของการลงทุนทั่วทั้งโลก นั่นคือกลโกงหรือมิจฉาชีพ ที่เข้ามาล่อลวงนักลงทุนด้วยวิธีการต่าง ๆ แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตลาดทุนไทยต้องเร่งสะสาง
“ตลาดทุนไทยก่อร่างสร้างตัวมาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าโจทย์ในยุคนี้ย่อมเปลี่ยนไปจากยุคแรกเริ่ม ในช่วงตั้งไข่ ตลาดทุนเราอยากจะขยายตัวเองขึ้นมา เพื่อตั้งตัวให้ได้ก่อน การมี Blind Spot หรือ Dark Alley อยู่ในตลาด จึงเป็นเรื่องที่อาจปล่อยผ่านไปก่อนได้ แต่วันนี้เราต้องเข้าใจว่าจุดมืดเหล่านี้คือตัวการสําคัญที่ทําลายตลาดทุน ดังที่เห็นจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา
“ผมอยู่ในภาคการเงินมาตั้งแต่ต้น รู้เลยว่าคําว่า Trust คือ หัวใจของการสร้างตลาดทุนให้ก้าวไกลขึ้นไปได้ ถ้าเมื่อใดก็ตามมีการตั้งคําถามเรื่อง Trust ตลาดทุนก็จะสั่นคลอน คงถึงเวลาแล้วที่จะจัดการกับปัญหาที่ก่อให้เกิดการบั่นทอนความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย”
ขณะเดียวกันเมื่อกล่าวถึงประเด็นการเป็น ‘ตลาดทุนสําหรับทุกคน’ ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ประโยชน์ที่ได้จากการลงทุน ยังตกเป็นของคนกลุ่มเล็ก ๆ ยังเป็นตลาดทุนที่ไม่ได้มีอยู่เพื่อคนทุกคนอย่างแท้จริง
“ทําอย่างไรให้ตลาดทุนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเป็นของทุก ๆ คน ผมทํางานอยู่ในกลุ่มธนาคาร ก็มักจะได้ยินคําว่า ‘เสือนอนกิน’ อยู่บ่อยครั้ง นั่นเป็นเพราะคนส่วนหนึ่งในสังคมยังมองว่า เรามาทําธุรกิจเพื่อกอบโกยแต่ผลกําไรไม่ได้สร้างประโยชน์คืนกลับสู่สังคมเลย ตลาดทุนเองก็คงจะถูกมองคล้าย ๆ กัน
“อยากชวนคิดเรื่องการใช้กลไกตลาดทุนเพื่อช่วยเหลือส่วนอื่นของสังคม เช่น ล่าสุดเราก็มีกองทุนรวม ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (Thai ESG) ที่นําเงินไปลงทุนกับบริษัทไทย ที่ให้ความสําคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ทําเพื่อสังคม มีระบบที่โปร่งใส และเป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ตลาดทุน ทําเรื่อง Social Contribution ถ้าหากเราทําได้ก็จะทําให้ตลาดทุนเป็นที่รักเองทุกคนได้อย่างแท้จริง”