ปลดหนี้ มีออม เพิ่มการลงทุน เมื่อภาคประชาชนได้เรียนวิชาการเงิน

สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 ว่ามีคนไทยกว่า 1 ใน 3 แบกหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของ GDP เห็นได้ชัดว่าคนไทยจํานวนมากต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน แต่กลับไม่เคยเรียนวิชาการเงินกันอย่างจริงจังในห้องเรียน พอเข้าสู่วัยทํางาน องค์ความรู้ที่จะใช้ในการบริหารจัดการเงิน เก็บออม และต่อยอดการลงทุน ก็กลายเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่รู้ว่าควรหันไปพึ่งใคร หรือเรียนรู้จากที่ได

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นปัญหานี้ และริเริ่มทําหลายโครงการ ที่เชื่อมไปสู่ภาคประชาชน เช่น โครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp อบรมครูในการส่งต่อความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนให้แก่นักเรียน หรือโครงการ Happy Money ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนการเงินแก่กลุ่มคนวัยทํางาน ผ่านความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ

ตลอดการทํางานให้ความรู้ทางการเงินกว่า 2 ทศวรรษ ผ่านการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ ในปี 2543 และเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน” (Thailand Securities Institute: TSI) ในปี 2546 มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 3 ล้านคน ในองค์กรภาคีเครือข่ายเกือบ 700 องค์กร

ต่อจากนี้ คือเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้เข้าร่วมโครงการที่มาจากประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งคุณครูผู้สอนให้เด็กชาติพันธุ์เข้าใจเรื่องการเงินผ่านบอร์ดเกม แม่บ้านของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีเงินเก็บเป็นล้านจากองค์ความรู้เรื่องการลงทุน ภรรยาตํารวจชายแดนผู้สามารถปลดล็อกหนี้ให้ครอบครัว คนส่งของผู้พัฒนาตัวเองสู่ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินกับพนักงานในองค์กร และคนที่เคยติดหนี้บัตรเครดิตถึง 10 ใบ ก่อนผันตัวมาเป็น “พี่เลี้ยงการเงิน” กับโครงการของตลาดหลักทรัพย์ฯ

“การมีความรู้ที่ดี นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตได้” เป็นเหมือนข้อสรุปสําหรับหลายคนในที่นี้ บุคคลเหล่านี้คือตัวอย่างที่น่ายินดีสําหรับการนําองค์ความรู้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอยู่ เชื่อมไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์กับพวกเขาแล้ว ทุกคนยังส่งต่อความรู้ความเข้าใจด้านการเงินไปสู่คนอื่น ๆ ในสังคมอีกด้วย

“พอศึกษาลองหาความรู้ในเรื่องการเงิน
เราก็คิดว่าทําไมเรื่องเหล่านี้ไม่ปรากฏ
ตอนที่เราเรียน ทําไมเพิ่งมารู้ตอนนี้
ฉะนั้น ในเมื่อเรารู้แล้ว
ทําไมเราไม่สอนเด็กไปด้วยเลย”

รัตนชาติ สาระโป (ครูก็อต) 
ครูสอนสังคม โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก

“ปัญหาการเงินคือปัญหาที่ไม่ว่าใครก็อาจต้องเจอในสักวัน” รัตนชาติ สาระโป (ครูก็อต) ครูสอนสังคม โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ คือครูที่เข้าใจปัญหานี้อย่างถ่องแท้ เพราะตัวเขาเองก็มีหนี้เช่นเดียวกับครูอีกหลายคน เขาจึงเริ่มศึกษาความรู้ทางการเงินด้วยตัวเอง และสนใจนําเนื้อหาเรื่องการเงินเข้ามาสอดแทรกในวิชาเรียน

“พอศึกษาลองหาความรู้ในเรื่องการเงิน เราก็คิดว่าทําไมเรื่อง เหล่านี้ไม่ปรากฏตอนที่เราเรียน ทําไมเพิ่งมารู้ตอนนี้ ฉะนั้น ในเมื่อเรารู้แล้ว ทําไมเราไม่สอนเด็กไปด้วยเลย”

เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็กส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ความกังวลใจแรกของครูก็อตคือเรื่องการเงินอาจเป็นสิ่งที่ไกลตัวไปสําหรับเด็ก เขาจึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรการสอนให้เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้

ประจวบเหมาะกับที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp ซึ่งเป็นโครงการอบรมครูในการส่งต่อความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนให้แก่นักเรียน ครูก็อตไม่รอช้าที่จะสมัครเข้าอบรม และทําให้ได้แนวทางการสอนวิชาการเงินให้กับเด็กในห้องเรียนได้

จากจุดเริ่มต้นที่ครูก๊อตกังวลว่าเด็กจะไม่สนใจและมองการเงินเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อได้สอนวิชานี้อย่างจริงจัง ครูก็อตกลับเห็นว่าเด็กมีความกระตือรืนร้นที่จะเรียนรู้ และนําเรื่องการเงินในชีวิตประจําวันมาเล่าให้เขาฟังอยู่เสมอ

“มีเด็กคนหนึ่งเขามาอวดว่า แม่หนูซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ให้หนู ราคา 28,000 บาท เลยนะ แม่หนูผ่อนเดือนละ 1,800 บาท ผ่อน 2 ปี เราก็เลยบอกเขาว่า ราคาเต็ม 28,000 บาท แต่หนูผ่อนเดือนละ 1,800 บาท ผ่อน 2 ปี หนูรู้ไหมว่าราคาเต็ม ๆ ที่ต้องจ่ายคือเท่าไหร่ มันคือ 43,200 บาท เลยนะ ซึ่งอันนี้มันเป็นจุดที่ทําให้นักเรียนเขาว้าวกับเรื่องการเงิน เพราะเขาไม่เคยคิดในแง่นี้มาก่อน”

เพื่อต่อยอดกิจกรรม โรงเรียนยังได้จัด “มินิมันนี่แคมป์” ที่นอกจากจะสอนเรื่องการเงินในชีวิตประจําวัน การทํารายรับ รายจ่าย ยังสอนให้เด็กเข้าใจเรื่องการลงทุนในหุ้นด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ครูก็อตยังพัฒนาบอร์ดเกม “ใจ้เปิงใจ๋” ขึ้น ซึ่งเป็น บอร์ดเกมที่มีคอนเซปต์ว่าด้วยการเอาตัวรอดทางการเงินของเยาวชนชาวดอย ดึงเอาบริบทสังคมของคนในพื้นที่นี้เข้ามาให้เกิดความรู้สึกใกล้ตัว เป็นเกมที่จะมีสถานการณ์สมมติต่าง ๆ เป็นตัวดึงเงินออกจากกระเป๋า และชวนให้ผู้เล่นคิดว่าจะรอดพ้นจากสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร และจะมีวิธีเก็บเงินอย่างไร ให้เหลือเงินมากที่สุดในแต่ละเดือน

ครูก็อตย้ําว่า สิ่งสําคัญที่จะทําให้ทุกคนแก้ปัญหาเรื่องการเงินได้คือการปรับความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเงินก่อน ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ สิ่งที่ต้องมีคู่กันคือองค์ความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยเขาเสนอว่า อาจเริ่มจากการสร้างพิพิธภัณฑ์การลงทุนแบบที่มีในกรุงเทพฯ กระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาให้กับคนในพื้นที่ด้วย

โครงการ INVESTORY Investment Learning Design Bootcamp

พัฒนาขึ้นในปี 2566 เพื่อผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา โดยยกระดับความรู้และพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถออกแบบและจัดกระบวนการในการสอนเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายเหมาะสมกับผู้เรียน ประกอบด้วย

1) การให้ความรู้ครูระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้วยกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจผสมระหว่างทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ (Workshop) ในเรื่องความรู้พื้นฐาน การลงทุนสําหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา (Investment Fundamentals) หลักการออกแบบห้องเรียน (Learning Design) และทักษะการเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitation Skills)

2) ครูนําความรู้ไปออกแบบหลักสูตรการสอนของตนเองและทดลองสอน (Teaching Lab) เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา ซึ่งระหว่างนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการให้คําแนะนําแก่ครูอย่างต่อเนื่อง

3) เมื่อครบช่วงทดลองสอนแล้ว มีการเปิดเวทีให้ครูสาธิตห้องเรียนการลงทุนแก่บุคลากรทางการศึกษาและสาธารณชน (Show & Share)

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ
สร้างโอกาสให้เราได้มาอ่านหนังสือ
ได้รู้จักวิธีการบริหารจัดการเงิน
เราต้องถามตัวเองก่อนว่ารับความเสี่ยง
ได้แค่ใหน แล้วเริ่มต้นเท่าที่ทําไหว
ไม่เกินกําลัง”

ปาริชาติ พงษ์คํา (หนู)

การลงทุนไม่ได้จํากัดโอกาสและฐานะ ใครจะคิดว่าเป็นพนักงาน ทําความสะอาดก็มีเงินล้านติดบัญชีได้ แค่เข้าใจการใช้ประโยชน์จากตลาดทุน
ปาริชาติ พงษ์คํา (หนู) ถูกยกให้เป็นต้นแบบของแม่บ้านเงินล้าน ที่สร้างความมั่นคงในชีวิตได้จากการลงทุน หลังจากที่เธอก้าวเข้ามาเป็นแม่บ้านของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 20 ปีก่อน จนถึงวันนี้ที่มีเงินในบัญชีหลักล้าน

เธอเล่าว่า ตอนนั้นเป้าหมายเดียวของเธอคือหาเงินให้เพียงพอ กับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ และมีเงินเหลือพอจุนเจือแบ่งเบาภาระครอบครัวที่จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยวุฒิการศึกษาแค่ระดับชั้น ป.6 พนักงานทําความสะอาดจึงเป็นอาชีพที่เธอเลือก

ความจนเป็นแรงผลักดันให้คนต่างจังหวัดเดินทางเข้าเมือง เพื่อทํางานหาเงิน จากแม่บ้านทั่วไป ผันตัวมาเป็นพนักงาน ทําความสะอาดที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับชีวิต เพราะกลายเป็นประตูที่เปิดกว้างทําให้เธอได้รู้จักกับตลาดทุน และมีมุมมองทางการเงินที่เปลี่ยนไปจากเดิม ในขณะที่คนรายได้น้อยส่วนใหญ่มักเจอกับปัญหาหนี้สิน รายรับที่ได้มาเพื่อเลี้ยงตัวเองแบบเดือนชนเดือนด้วยภาระที่มีโดยไม่ได้มองเรื่องการบริหารเงิน และคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องของคนรวย แต่เธอกลับไม่คิดเช่นนั้น

ด้วยความที่ตัวเธอเองมีความสนใจเรื่องบริหารเงินกับงานเป็นทุนเดิม อีกทั้งเป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ หนังสือในห้องสมุดของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยน สอนให้แม่บ้านอย่างเธอเริ่มต้นทําบัญชีรายรับรายจ่าย และวางแผนการใช้เงินอย่างเป็นระบบ รวมถึงมองหาแนวทางที่จะช่วยต่อยอดเพิ่มพูนเงินที่มีอยู่ให้งอกเงยมากขึ้น

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างโอกาสให้เราได้มาอ่านหนังสือได้รู้จัก วิธีการบริหารจัดการเงิน เริ่มต้นจากการฝากประจําในธนาคารเพื่อฝึกวินัยให้ตัวเราเอง จนเริ่มมาศึกษาเรื่องการลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี เพื่อต่อยอดเงินก้อนที่มีจากต้นทุนเดิม” เธอกล่าว

บรรยากาศที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นแรงกระตุ้นที่น่าสนใจสําหรับนักลงทุนหน้าใหม่ ด้วยหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลความสะอาดในห้องสมุดมารวย คลังหนังสือการเงินการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บรรยากาศของการลงทุน ความรู้ที่ได้ซึมซับจากเวทีเสวนาเล็ก ๆ ในห้องสมุด ทําให้เธอได้เรียนรู้และกล้าตัดสินใจลงทุน โดยเริ่มศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง

“จากเงินหลักแสน มาเป็นหลักล้าน ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน คิดแต่ว่าถ้าเราไม่เสี่ยงมันก็จะเสียเปล่า ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ เพียงแต่เราต้องถามตัวเองก่อนว่า รับความเสี่ยงได้แค่ไหน แล้วเริ่มต้นเท่าที่ทําไหว ไม่เกินกําลัง” เธอกล่าว และย้ําว่า “หนูจะบอกกับทุกคนตลอด ไม่ใช่ว่าลงทุนแล้วจะรวยทุกคน ต้องมาปรับหาจุดที่เหมาะ บางครั้งต้องยอมขาดทุนเพื่อเรียนรู้ พยายาม และก้าวต่อไป”

แม่บ้านเงินล้านยอมรับว่า การได้คลุกคลีกับคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องการลงทุน แม้กระทั่งลูกค้าที่เดินเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ การได้ซักถามและแบ่งปันเรื่องการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ทําให้มีวัตถุดิบมากพอในการตัดสินใจเปิดพอร์ตลงทุนด้วยตัวเอง โดยกล้าที่จะรับความเสี่ยง และการลงทุนเพื่อความสําเร็จในระยะยาว

ทุกวันนี้ตัวเธอเองยังคงมุ่งมั่นศึกษาเรื่องการลงทุน โดยแบ่งเวลาทุกวันเพื่อติดตามข่าวสารและความรู้เรื่องตลาดทุนใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามา ทั้งหุ้นกู้ หุ้นยั่งยืน รวมถึงโอกาสการลงทุนในยุคดิจิทัล ซึ่งต้องมีความรู้มากพอก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในภาพที่กว้างขึ้น โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ในหนังสือมาหาข้อมูลผ่านคลิปให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุน และแอปพลิเคชันด้านการลงทุน ซึ่งตอนนี้การเข้าถึงความรู้ด้านการลงทุนผ่านออนไลน์ทําได้ง่ายมากกว่าในอดีต

“หนูโชคดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทําให้เราหาความรู้ได้ง่าย และเข้าถึงได้มากกว่าคนอื่น แต่สิ่งสําคัญอันดับแรกคือตัวเรา ที่หากไม่เริ่มต้นค้นคว้าก็จะไม่มีการที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง” ปาริชาติกล่าวทิ้งท้าย

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําให้เรารู้จักตัวเอง
เรามีหนี้อะไร ทรัพย์สินอะไร
เงินที่เหลือหลังจากหักหนี้ ค่าใช้จ่าย
และเงินออมออกแล้ว มันคือเงินส่วนที่เรา
ใช้ได้อย่างสบายใจที่สุด”

ณิชา วันสารัมย์
แม่บ้านข้าราชการตํารวจ กองกํากับการตํารวจตระเวนชายแดนที่ 41 จ.ชุมพร

เช่นเดียวกับ ณิชา วันสารัมย์ แม่บ้านข้าราชการตํารวจ ที่เริ่มต้นด้วยกองกํากับการตํารวจตระเวนชายแดนที่ 41 จ.ชุมพร สถานะติดลบ แต่ความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินและการลงทุนกลับทําให้ชีวิตเธอพลิกฟื้นกลับมาอยู่ในแดนบวกอีกครั้ง

“ตั้งแต่คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็ง จะมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินกับค่าเดินทางมาทําคีโมที่กรุงเทพฯ มีเรื่องค่าเล่าเรียนของลูก มีหนี้ก้อนใหญ่ที่สามีกู้มาสร้างบ้านให้แม่ ส่วนเราก็มีหนี้คอนโดฯ อยู่ ช่วงนั้นเราเข้าไปดูในสมุดบัญชีธนาคาร เงินมันหายหมด เราก็รู้สึกว่า ทําไมมันหมดไปขนาดนี้”

แม้ณิชาจะไม่ใช่คนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และยังพยายามหารายได้ทุกวิถีทาง เช่น การปลูกผักขาย จนกระทั่งขายของออนไลน์ แต่หนี้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ยังสูบเงินส่วนใหญ่ของครอบครัวไปจนหมด

กระทั่งวันหนึ่งที่มีเสียงแอปพลิเคชัน LINE เด้งขึ้นในกรุ๊ปของสมาคมแม่บ้านตํารวจ ณิชาบอกว่าเสียงนั้นเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

โครงการ Happy Money In Action เส้นทางสร้างสุขทางการเงิน คือข้อความทางไลน์ที่เธอได้อ่านในวันนั้น และเธอไม่รอช้าที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ

“เราตั้งใจมาก ก็ขอเงินสามีว่า ฉันขอค่าอินเทอร์เน็ตสําหรับการเรียน เขาบอกว่า ได้ แต่เรามารู้ว่าเขาต้องไปชายแดน รองเท้าเขาขาดแล้ว ตอนแรกเขาตั้งใจจะซื้อรองเท้า แต่เขาไม่ซื้อ แล้วเอาเงินมาให้เราซื้ออินเทอร์เน็ตเรียนแทน”

ด้วยแรงสนับสนุนและเสียสละของสามี ณิชาจึงตั้งใจเรียนอย่างมาก และทําให้เธอรู้หลายเรื่องที่เธอไม่เคยรู้มาก่อน อย่างแรก คือการได้รู้จักสถานะหนี้ของตัวเอง ต่อมาเมื่อเธอเรียนรู้เรื่องการทําบันทึกรายรับรายจ่ายเพื่อให้รู้สถานะทางการเงินและเข้าใจนิสัยทางการเงินของตัวเอง ก็ทําให้เธอปลดล็อกนิสัยบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการออมเงิน

เมื่อเข้าใจถึงสถานะการเงินและวิธีแก้ไข ต่อจากนั้นจึงนําไปสู่เป้าหมายของการลดหนี้ โดยระหว่างทางเธอได้รับคําแนะนําดี ๆ จากอาจารย์ที่สอนหลายท่าน

“จากที่เราได้แต่ปรับทุกข์กับสามี แต่พออาจารย์มาชี้จุดให้เราเห็น กราฟเงินออมของเราค่อย ๆ ขึ้นมาทีละนิด ๆ มันทําให้เราเห็นทางออก เพราะเราได้ความรู้ ได้หลักการในการดําเนินชีวิต”

เธอกล่าวเสริมด้วยว่า “ถ้าปัญหาเรื่องเงินหมดไป ปัญหาครอบครัวก็แทบไม่มี ดังนั้น ถ้าแก้เรื่องการเงินได้ ก็แก้ปัญหาครอบครัวได้ด้วย”

จนถึงวันนี้ เธอสามารถลดหนี้ ลดค่าใช้จ่าย และมีเงินเก็บออม รวมถึงเงินที่เหลือสําหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เธอต้องการด้วย

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําให้เรารู้จักตัวเอง เรามีหนี้อะไร ทรัพย์สินอะไร เงินที่เหลือหลังจากหักหนี้ ค่าใช้จ่าย และเงินออมออกแล้ว มันคือเงินส่วนที่เราใช้ได้อย่างสบายใจที่สุด มันมีความสุขนะคะ กับเงิน 2,000 บาทที่เหลืออยู่” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

นอกจากปรับใช้กับตัวเองจนชีวิตเปลี่ยนไป ณิชายังได้นําความรู้ที่เธอได้ไปบอกต่อกับเพื่อน ๆ ในสมาคมแม่บ้านตํารวจด้วย เพราะอีกหลายครอบครัวก็ประสบปัญหาไม่ต่างไปจากเธอ และเรื่องราวการวางแผนการเงิน ค่อย ๆ ทยอยลดหนี้ ลดค่าใช้จ่าย จนมีเงินเก็บออม ก็เป็นแรงบันดาลใจให้บรรดาภรรยานายตํารวจอีกหลายคน

“เราให้ความรู้กันตั้งแต่ในวงส้มตํา จนถึงวงฟังเทศน์ เราจะบอกให้ทุกคนทํางาน อย่านั่งรอสามีไปวัน ๆ มีคนหนึ่งลูกยังเล็ก ต้องไปรับลูก บอกเราว่าไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนไปทํางาน เราก็บอกลองไปขายหมูปิ้งแถวนั้นดูไหม เขาก็ไปทําหมูปิ้งขายจนถึงทุกวันนี้ ได้เงินมาใช้ค่าจิปาถะ เป็นความสุขของเขา”

มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร ผู้ช่วยผู้จัดการงานส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงิน บริษัท เงินติดล้อ จํากัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ที่ใช้ความรู้ทางการเงินเป็นใบเบิกทางสู่โอกาสในชีวิต เพราะก่อนจะมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเงินเขาเคยสมัครเป็นคนส่งของกับบริษัทเงินติดล้อ เพราะมีวุฒิแค่ ม.6 แต่ด้วยความมุ่งมั่น หมั่นเพียรหาความรู้ในทุกด้าน นำพาเขามาสู่การเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมด้านสินเชื่อ และท้ายสุดมาสู่แผนกส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน แผนกที่แม้แต่บริษัทเองก็ไม่เคยมีมาก่อน

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ขณะที่เขาเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมสินเชื่อตลาดสด มิ่งขวัญเกิดคำถามว่า ทําไมกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ที่ได้รับสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ ถึงไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนของหนี้นอกระบบได้

“ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ ผมลองผิดลองถูก
เพราะเน้นจากพฤติกรรมเป็นหลัก
แต่พอได้ความรู้ทางการเงินที่เป็นระบบ
กับเครื่องมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพื่อมาวิเคราะห์ว่า แต่ละเคสควรแก้ปัญหายังไง
ทําให้สะดวกมากขึ้น”

มิ่งขวัญ ประเสริฐศิวพร
ผู้ช่วยผู้จัดการงานส่งเสริมการเรียนรู้ ด้านการเงิน บริษัท เงินติดล้อ จํากัด (มหาชน)

เขาไม่เพียงตั้งคําถาม แต่เอาตัวเองลงไปทําความเข้าใจกับปัญหาอย่างจริงจัง ทําแบบสํารวจพฤติกรรมรายรับรายจ่ายของกลุ่มตัวอย่าง จนพบว่าสิ่งที่คนกลุ่มนี้ขาดไปคือความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการให้ความรู้ทางการเงิน เปิดหลักสูตรการบริหารเงินให้กับบรรดาลูกค้า

“ตอนนั้นงานหลักเราก็ทํา แล้วก็ใช้อีก 10% มาช่วยให้ความรู้กับพวกเขา จัดกิจกรรมกันเดือนละครั้ง บางคนขอสินเชื่อกับเรา พอหมดหนี้แล้วยังขอเข้ามาเรียนรู้เรื่องการเงินต่อเรื่อย ๆ จนกระทั่งบริษัทเห็นว่าเป็นประโยชน์ ควรจะมีหน่วยงานนี้ขึ้นมาในองค์กร ก็เลยจัดตั้งแล้วให้ผมดูแลมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วเราก็ขยายไปตามชุมชนต่าง ๆ ทำควบคู่กับการให้ความรู้พนักงาน ให้เขาส่งความรู้ต่อให้ลูกค้าได้”

จากจุดเริ่มต้นในปี 2556 มิ่งขวัญช่วยทั้งลูกค้าและพนักงานในโครงการให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นได้หลายสิบเคส

แม้ที่ผ่านมามิ่งขวัญจะใช้ความรู้ความสามารถทั้งหมดที่มีในการวิเคราะห์และช่วยแก้ปัญหาการเงินให้กับแต่ละเคส แต่สิ่งที่เป็นเสมือนการติดปีกให้เขาโบยบินไปอีกขั้น คือการได้เข้าร่วมโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” กับตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ยอมรับว่าก่อนหน้านี้เราก็พยายามศึกษาพฤติกรรม แต่ก็ลองผิดลองถูกมา ไม่รู้ว่าสิ่งที่ให้คําแนะนําไปมันเป็นไปตามนี้หรือเปล่า เพราะเราจะเน้นจากพฤติกรรมเป็นหลัก แต่พอได้ความรู้ทางการเงินที่เป็นระบบ กับเครื่องมือ e-toolkit เพื่อเอามาวิเคราะห์ว่าแต่ละเคสควรจะแก้ปัญหายังไง เลยทําให้สะดวกมากขึ้น”

นอกจากกรณีที่ยกมา การเข้าร่วมกับโครงการ Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ กับบริษัทเงินติดล้อ สามารถสร้าง “พี่เลี้ยงการเงิน” ได้ 3 รุ่น โดยเฉลี่ยรุ่นละประมาณ 30 คน และคนที่อบรมแล้วก็ยินดีมาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ให้ความรู้ทางการเงินของบริษัท ช่วยเหลือเพื่อน ๆ พนักงานคนอื่น รวมถึงผู้คนชุมชนต่าง ๆ

จากสถิติในปี 2566 ของบริษัทเงินติดล้อ พบว่าพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ 32 คน มีหนี้ลดลงรวมกันถึง 3.2 ล้านบาท

“ตัวเลขนี้ผมจําได้แม่นเลย เพราะทุกคนจะต้องส่งรีพอร์ต เดือนนี้จ่ายชาระหนี้หรือรีไฟแนนซ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ให้หนี้ลดลง ก็ช่วยให้ทั้ง 17 คนนี้ไปต่อได้ เมื่อเขามีเงินออมก็สามารถต่อยอดสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สู่ตลาดทุนได้มากขึ้น” มิ่งขวัญกล่าว

เขาเสริมว่า ปัญหาหลักตอนนี้ของประเทศไทยคือเรื่องหนี้ หนี้ครัวเรือนสูงมากโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมาแล้วทํางาน มีแนวโน้มเป็นหนี้เร็วมาก ซึ่งหากตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถช่วยสื่อสารให้ความรู้เพื่อป้องกันไม่ให้คนเป็นหนี้ อาจช่วยลดให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องแบกภาระเรื่องหนี้สินที่มากเกินไปได้

เมื่อกล่าวถึงปัญหาหนี้ที่ถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ที่ทําให้คนจํานวนมากมีชีวิตวนเวียนกับวงจรหนี้อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหลุดพ้นได้ง่าย ๆ ปถวี แสงเวียน เจ้าหน้าที่การตลาดธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ (ศรีสะเกษ) ธนาคาร เกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน) เคยเป็นคนคนนั้น และตามต้วยการเป็นหนี้นอกระบบเพื่อกู้มาจ่ายหนี้ในระบบ ไปจนถึงการจำนองที่ดิน ใช้เงินต่อเงิน ใช้หนี้ต่อหนี้ วนเป็นงูกินหางแบบไม่รู้จบ จนหนี้ที่ต้องจ่ายทุกเดือนไม่ใช่แค่ช่วงปลายเดือนแต่แทบเป็นวันต่อวัน

“ผมเป็นคนเดียวที่ต้องดูแลครอบครัว ต้องแบกภาระทุกอย่างไว้ แล้วในอดีตผมไม่เคยปริปากบอกครอบครัวเลยว่าเราไม่มีเงินแล้ว” ปถวีเล่าถึงความทรงจําช่วงที่หนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิต

“หนี้มันมีอยู่ทุกวันเลย จนบางทีก็นอนไม่หลับ สะดุ้งกับตัวเอง ว่า เอ๊ะ พรุ่งนี้ต้องจ่ายอีกแล้วเหรอ ลูกเคยบอกว่า ทําไมปะป๊า ทํางาน 7 วัน ก็เพราะเรื่องหนี้นี่แหละที่เราบริหารไม่เป็น” เขากล่าวเสริม

เมื่อมองย้อนกลับไป เขาพบว่าสาเหตุที่ปัญหาหนี้ยังรุมเร้ามาจากวิธีคิดในการใช้เงินของเขาตั้งแต่สมัยหนุ่ม เมื่อได้เงินมา ก็ใช้ไป ไม่เคยคิดว่าต้องเก็บเงิน เพราะอย่างไรเงินก็เข้ามาอยู่เรื่อย ๆ

“ผมตกใจมากที่โค้ชการเงินของโครงการ Happy Money
พี่เลี้ยงการเงิน มาถามเรื่องเงินของผม
แบบเจาะลึกทีละรายการ แล้วบอกว่าที่ผมทํา
ผิดหมดเลย เพราะผมรู้แค่เรื่องรับ-จ่าย
แต่โค้ชบอกว่าไม่ใช่ ต้องดูให้ดีว่าอะไรเป็นรายรับ
อะไรเป็นรายจ่าย อะไรเป็นหนี้”

ปถวี แสงเวียน
เจ้าหน้าที่การตลาดธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ (ศรีสะเกษ) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จํากัด (มหาชน)

ประกอบกับเมื่อมาทํางานเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร เงินเดือนบวกค่าคอมมิชชั่นและค่าอินเซนทีฟ รวมแล้วเป็นจํานวนเงินที่สูงมาก เขาจึงเริ่มเข้าสู่วงจรการรูดบัตรเครดิตอย่างไม่ยั้งคิด จ่ายหนี้แค่ขั้นต่ำ พอรูดเต็มวงเงิน ก็ถลำไปสู่การเปิดบัตรใหม่ใบที่ 2 3 4 เรื่อยมาจนถึงใบที่ 10

โชคดีที่ตอนนั้นธนาคารเกียรตินาคินภัทรทําโครงการ “ปลดหนี้ มีออม” ปถวีจึงรีบสมัครอย่างไม่รอช้า และได้แนวทางในการสร้างนิสัยทางการเงินแบบใหม่ติดตัวมา และเมื่อธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้เข้าร่วมโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นโครงการสร้างผู้เรียน ผู้รู้ ผู้มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะได้รับความรู้ เพื่อปลดล็อกปัญหาของตนเอง และแนะนําผู้อื่น หรือคนรอบข้าง ได้อย่างมีทักษะและความรู้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดการกระจายความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการออม การลดค่าใช้จ่าย การวางแผนการเงินได้เป็นระบบและถูกต้อง ปถวีเห็นว่าเป็นโครงการที่ต่อยอดได้ จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยตัวเอง

การได้เข้าโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” ทําให้ได้เจอเหล่าโค้ชเก่ง ๆ มากมาย ปถวีจึงได้องค์ความรู้และหลักการทางการเงินมาต่อยอดได้อีก ทั้งเรื่องการคํานวณรายรับรายจ่าย เงินออม การลงทุน ไปจนถึงการฝึกเป็นพี่เลี้ยงผู้ให้คําปรึกษาทางการเงิน และถึงตอนนี้หนี้ที่เคยเป็นยาขมก็กลายเป็นสิ่งที่เขาจัดการได้อยู่มือ พ่วงด้วยการมีเงินนําไปต่อยอดลงทุน

“เชื่อไหมว่าผมตกใจมากที่โค้ชการเงินของโครงการ Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน มาถามเรื่องเงินของผมแบบเจาะลึกทีละรายการ แล้วโค้ชก็ส่งไฟล์ Excel ให้ผมดู บอกเลยว่า ที่ผมทํา ผิดหมดเลย เพราะผมรู้แค่เรื่องรับ-จ่าย แต่โค้ชบอกว่าไม่ใช่ ต้องดูให้ดีว่าอะไรเป็นรายรับ อะไรเป็นรายจ่าย อะไรเป็นหนี้ และโค้ชก็สอนวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของผม จึงเห็นช่องทางการบริหารการเงินในชีวิต และเมื่อได้มีโอกาสเป็นพี่เลี้ยงการเงิน จึงใช้ประสบการณ์ของตัวเองไปสอน”

เขายอมรับว่า หากไม่ได้พบกับโครงการปลดหนี้ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือโครงการ Happy Money ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ชีวิตเขาคง “เละ” ไปแล้ว อาจจะหนีหนี้ และมีชีวิตยากลำบากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

จนถึงตอนนี้ ปถวียังคงทําหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงการเงิน โดยผู้ประสบปัญหาการเงินหลายราย เจอปัญหาคล้ายกับที่เขาเคยเจอมาก่อน ทําให้หลายเคสเปิดใจกับเขา และพร้อมรับองค์ความรู้ทางการเงินไปปรับใช้ในชีวิต

เรื่องราวจากหลากหลายผู้คนที่มีส่วนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการผลักดัน กระตุ้น ปรับเปลี่ยน และแก้ไข ได้ผลิดอกออกผลอย่างงดงามแล้ว การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนทั้ง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลเกิดขึ้นได้ตามที่หวัง ก้าวต่อไปคือ การทําอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ถึงภาพที่ฝันไว้ นั่นคือ ตลาดทุนไทยเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งภาคธุรกิจและสังคม พร้อมเป็นพื้นที่สําหรับอนาคตของทุกคนในประเทศนี้ให้มีความอยู่ดีกินดี

อีกหนึ่งคนที่ร่วมภารกิจบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ให้กับนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่องเคียงคู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการบริหาร วารสารการเงินธนาคาร ร่วมบอกเล่าการเดินทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ และการร่วมให้ความรู้ “ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผ่านวิกฤตครั้งสําคัญก็หลายครั้ง วิกฤตหนักสุดก็ราชาเงินทุนในยุคนั้น ยังไม่มีกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. จนกระทั่งปี 2535 มีการจัดตั้ง ก.ล.ต. ขึ้นมากํากับดูแลก็เกิดพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ พัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เติบโตค่อนข้างรวดเร็ว มีการนําระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาซื้อขายจนทุกวันนี้โบรกเกอร์สามารถส่งการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ได้ ประชาชนทั่วไปก็สามารถซื้อขายผ่านทางออนไลน์ได้ จนบัดนี้มูลค่าการชื้อขายตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนมาต่อเนื่องหลายปี จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการให้ความรู้ด้านการเงินการธนาคารขยายวงกว้างไปสู่การให้ความรู้ด้านตลาดเงินตลาดทุนและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการสร้างความรู้ทางการเงินหรือ Financial Literacy ให้แก่ประชาชน จึงนับเป็นก้าวแรกที่วารสารการเงินธนาคารได้มีส่วนในการเข้าไปร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ “ผมมีโอกาสได้เจอกับ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านทักว่าการนําเสนอข่าวเรื่องตลาดหุ้นของเรา ยังไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงเท่าไหร่อาจเพราะสื่อยังไม่มีความรู้ที่ลึกมากพอ ผมจึงนําเสนอว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะมีหลักสูตรให้ความรู้กับสื่อมวลชน ด้านผลิตภัณฑ์การลงทุน การซื้อขายหุ้นเพื่อให้สามารถนําเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ และถูกต้องให้แก่ประชาชนถือเป็นการสร้างฐานลูกค้าให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปด้วย”

วารสารการเงินธนาคารได้ริเริ่มในการให้ความรู้ทางการเงินการลงทุนในรูปแบบของการจัดงาน Money Expo มหกรรมการเงินการลงทุนระดับประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2544 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจธนาคารต่าง ๆ และประชาชนทั่วประเทศ ภายในงานมีการนําเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมาย อย่างเช่น สินเชื่อ ประกัน รวมถึงบัตรเครดิต ที่เป็นผลิตภัณฑ์เอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ ในยุคนั้นคนจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความร่วมมือกับวารสารการเงินธนาคาร ในการให้ความรู้กับสื่อมวลชน และยังเป็นผู้ที่จุดประกายให้เกิดอีเวนต์แห่งการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องการลงทุนครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย

“ตอนนั้นคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านสนใจ ก็เลยมาคุยกันว่าอยากจะจัดงานที่มีลักษณะคล้าย ๆ งาน Money Expo โดยให้เราไปช่วยจัดงานให้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อจึงเกิดเป็นงาน SET in the City ขึ้นครั้งแรก ในตอนแรกนั้น ถือว่ามีความท้าทายมากเนื่องจากผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างจากผลิตภัณฑ์ด้านการเงิน ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า จึงเน้นไปที่เรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแก่ประชาชน ซึ่งสําคัญมากในการสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจให้คนเริ่มต้นลงทุน นอกจากนี้ เรายังมองว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มสําคัญที่จะเป็นนักลงทุนในอนาคต สมัยนั้นไม่ค่อยมีหลักสูตรด้านความรู้ด้านการเงินในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเราก็เลยไปเจาะตลาดกลุ่มนี้

“สมัยก่อนทํางานกันสนุกมาก มีช่วงที่เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มาช่วยถือธงนํานักศึกษาพาไปคุยกับโบรกเกอร์ต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องการลงทุน งาน SET in the City ถือว่าเป็นสื่อกลางที่ดีในการหากลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ไปหาความรู้และพูดคุยกับโบรกเกอร์โดยตรง ก็ถือว่าช่วยสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ

“เราทําต่อเนื่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึง 7 ปี ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเรื่องการเงินการลงทุนมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้จัดงานเอง ก็มีการขยายการให้ความรู้มากขึ้น ทําให้สามารถสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ได้มากขึ้นก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี”

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างวารสารการเงินธนาคารกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังครอบคลุมไปถึงงานสําคัญของแวดวงตลาดทุนก็คือ ‘งาน SET Awards’ ซึ่งเป็นงานมอบรางวัลอันทรงเกียรติให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่มีผลประกอบการยอดเยี่ยมในแต่ละ Sectors มาจนถึงปัจจุบัน

“อีกความร่วมมือหนึ่งคือคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะมีรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูบริษัทจดทะเบียนและผู้บริหารที่ดีเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่บริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย ในที่สุดก็ได้ร่วมมือกันสร้างรางวัล SET Awards ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึง 2566 ครบรอบ 20 ปีพอดี ตอนหลังก็มีรางวัลด้านความยั่งยืน ด้าน Governance แล้ว ก็ยังมีรางวัล Innovation Awards เพิ่มเติมเข้ามา ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาและเติบโตเรื่อยมา ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถือว่าเป็นการให้กําลังใจแก่คนทํางานในตลาดทุน ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต และบริษัทจดทะเบียนที่ดําเนินการอย่างมีธรรมาภิบาลและการดําเนินธุรกิจแบบยั่งยืนให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นต้นแบบด้านคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและบุคลากรในอุตสาหกรรม”

การสร้างฐานข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายและเพิ่มกลไกการปกป้องนักลงทุนรายย่อยจากปัญหาต่าง ๆ เป็นสิ่งสําคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งที่สร้างความมั่งคั่งที่สําคัญของบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งนักลงทุนรายย่อยมาตลอดหลายสิบปี ความพยายามของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ผมเห็นมาตลอดอย่างแรกคือการให้โอกาสบริษัทเข้ามาระดมทุนเพื่อไปขยายธุรกิจให้เติบโต ประการที่สองคือ การสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเอง ล่าสุดก็มี LiVE Exchange ที่เปิดโอกาสให้ SMEs และ Startups เข้ามาระดมทุนและเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการลงทุนในบริษัทเหล่านั้นมาร่วมลงทุนได้ เพราะฉะนั้น โอกาสของตลาดหุ้นไทยก็จะกว้างขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ก.ล.ต. ควรจะมีมาตรการในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนรายย่อยว่าสามารถปกป้องนักลงทุนรายย่อยได้เหมือนในต่างประเทศ นี่คือความท้าทายอันหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.”

สันติฝากทิ้งท้ายว่าอยากให้คนไทยเห็นความสําคัญของการลงทุน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงทางการเงิน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทสําคัญมาก ในการบ่มเพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ด้านการเงินการลงทุน

“การลงทุนเป็นเรื่องสําคัญที่จะช่วยให้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตนเอง ปัจจุบันมีทางเลือกการลงทุนหลายช่องทางทั้งในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม กองทุนต่างประเทศ หรือแม้แต่การซื้อหุ้นในต่างประเทศด้วยตัวเองก็ทําได้ถ้ามีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ไม่จําเป็นจะต้องมีเงินก้อนโตถึงจะเข้าไปลงทุนได้ มีเงินก้อนเล็ก ๆ ก็สามารถแบ่งมาลงทุนได้ ในลักษณะของการทยอยซื้อหุ้นสะสมทุกเดือน ถึงวันหนึ่งก็จะแปลกใจว่ามูลค่าหุ้นเติบโตขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ การลงทุนสะสมหุ้นตั้งแต่ตอนนี้เมื่อถึงวัยเกษียณก็จะมีเงินก้อนมหาศาลเลยทีเดียว”