ปี 2518-2528 บุกเบิก เรียนรู้ และพัฒนา

การถือกําเนิดและพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองย้อนกลับไปในแต่ละช่วงเวลา จะเห็นได้ชัดเจนว่าบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแต่ละยุคเต็มไปด้วยการเรียนรู้ ประสบการณ์ การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และการเติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือกันมองการณ์ไกลและพัฒนาขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการวางรากฐานรองรับอนาคตได้อย่างมั่นคงจนตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นหนึ่งในเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย

คณะกรรมการชุดแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ

กําเนิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย:
30 เมษายน 2518

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงกําเนิดมาด้วยเป้าหมายของการเป็น Market Platform เพื่อรองรับการเติบโตและส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีบทบาทสําคัญในการเป็นตลาดรองของตลาดทุนที่เป็นทางเลือกใหม่ในด้านการเป็นแหล่งระดมเงินทุนที่สําคัญของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีต การระดมเงินทุนในตลาดการเงินของไทยอาศัยจากระบบธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก

การเปิดทําการของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 แม้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสําคัญของรูปแบบการระดมทุนจากตลาดทุน ในขณะนั้นคนจํานวนมากก็ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และมองว่าตลาดทุนเป็นเรื่องไกลตัว นักธุรกิจส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการระดมทุนโดยการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่ผู้ที่มีเงินออมในขณะนั้นก็มองว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเรื่องใหม่ ยากที่จะทําความเข้าใจ

สำนักงานและห้องค้าหลักทรัพย์แห่งแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ณ อาคารศูนย์การค้าสยาม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อแรกตั้ง

สํานักงานและห้องค้าหลักทรัพย์แห่งแรกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การค้าสยาม ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจชั้นนําของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น และช่วงเริ่มต้นของการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้ระบบประมูลราคาอย่างเปิดเผย (Open Auction) เช่นเดียวกับที่ทํากันในตลาดหุ้นทั่วโลก เสน่ห์ของการซื้อขายในยุคนั้นคือ เมื่อมีการประมูลได้ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) ก็จะนําปากกาที่เขียนข้อมูลหลักทรัพย์เคาะลงบนกระดานจึงเรียกวิธีการซื้อขายแบบนี้ว่า ‘วิธีเคาะกระดาน’

ข่าวการเปิดซื้อขายวันแรก

หลักทรัพย์จากภาครัฐบาล ภาคเอกชน มีทั้งหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นกู้จากบริษัทจดทะเบียน และบริษัทรับอนุญาต จํานวน 11 บริษัท ได้เริ่มซื้อขายในวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดทําการ โดยมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2518 เท่ากับ 1.96 ล้านบาท ในช่วงเวลานั้น ผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ใช้ความพยายามในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แก่นักธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนอย่างต่อเนื่อง

แม้สถานการณ์หลังเปิดตลาดในช่วง 2 ปีแรก ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์จะค่อนข้างซบเซา มูลค่าการซื้อรายเฉลี่ยมีเพียง 3-4 ล้านบาทต่อวัน แต่ในช่วงเวลาไม่นาน ตลาดหุ้นไทยก็ได้ก้าวเข้าสู่ ‘ภาวะกระทิง’ เป็นครั้งแรก ในปี 2520 มีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยประมาณ 107 ล้านบาทต่อวัน และเพิ่มสูงเป็นประมาณ 221 ล้านบาทต่อวัน ในปี 2521 นับได้ว่า เป็นปีทองของนักลงทุนและผู้ต้องการเงินทุน ความสนใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายไปในวงกว้าง ถึงขั้นเกิดเหตุการณ์นักลงทุนแย่งกันเข้าไปส่งคําสั่งซื้อขายกับเจ้าหน้าที่ในห้องค้าจนเกิดความวุ่นวาย ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ‘Boom’ เป็นครั้งแรก มีนักลงทุนหน้าใหม่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ปริมาณและมูลค่าการซื้อขาย ก็เกิดการขยายตัวตามมา

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้เกี่ยวข้องต้องรับมือกับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เกิดปัญหาในรูปแบบใหม่ ๆ ตามมาด้วย เช่น ใบหุ้นปลอมที่ถูกใช้ในการชําระราคา การเก็งกําไรระยะสั้นจากข่าวลือ เป็นต้น ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเวลานั้นต้องเร่งสร้างระเบียบ กฎเกณฑ์ และมาตรการต่าง ๆ เพื่อจะช่วยให้การซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงการชําระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์เป็นไปอย่างมีระเบียบ รวดเร็ว และเพียงพอที่จะคุ้มครองประโยชน์ของนักลงทุน

“เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป เป็นโอกาสที่ดี
ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันต่อเหตุการณ์”

ภัทรียา เบญจพลชัย
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 10

ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 10 ซึ่งเป็นพนักงานในยุคแรกได้เล่าให้ฟังว่า “เริ่มทํางานตั้งแต่ปี 2518 เห็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่มีระบบงานที่เป็น Manual จากการซื้อขายหลักทรัพย์แบบเคาะกระดาน การชําระราคาและส่งมอบด้วยใบหุ้น มูลค่าซื้อขายในแต่ละวันไม่มาก ตอนนั้นงบก็ปิดไม่ลง เพราะปริมาณธุรกรรมน้อย เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีต่าง ๆ มีมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ปรับตัวตาม กระบวนการทํางานมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนากระบวนการทํางานให้ตอบสนอง การเปลี่ยนแปลงของตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ความต้องการของ นักลงทุนและผู้ระดมทุน ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์และทันต่อความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน”

เรียนรู้จากวิกฤตราชาเงินทุน:
การเก็งกําไร การปั่นหุ้น นําไปสู่การกํากับและการป้องกัน

ในช่วงปี 2521-2522 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผชิญกับ ‘วิกฤตราชาเงินทุน’ โดยเริ่มต้นมาจากบริษัท ราชาเงินทุน จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2520 ด้วยราคาซื้อขาย เริ่มต้นที่ 275 บาทต่อหุ้น ท่ามกลางภาวะที่หุ้นเริ่ม Boom ราคาหุ้นของบริษัทต่างๆ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น บริษัทราชาเงินทุนระดมเงินทุนด้วยการออกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ดึงดูดใจด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง และนําไปปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้นอยู่ ทําให้เกิดผลประกอบการที่ดี ส่งผลดีต่อราคาหุ้น ทําให้บริษัทราชาเงินทุนประกาศเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการหลายรอบ ความน่าสนใจของ ‘ราชาเงินทุน’ ทําให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับขึ้นสูงสุดถึง 2,470 บาท ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2521

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมา บริษัทราชาเงินทุนไม่ประสบความสําเร็จจากการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งมีการใช้เงินทุนผิดประเภท โดยปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัทของตนอย่างไม่เหมาะสมทำให้เกิดหนี้เสียเป็นจํานวนมาก จนบริษัทตกอยู่ในสถานะล้มละลาย บรรดาผู้ถือตราสารหนี้ระยะสั้นและผู้ถือหุ้นของบริษัทเกิดความตื่นตระหนก เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลงอย่างมาก รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งระบบ สถานการณ์ของ ‘วิกฤตราชาเงินทุน’ ส่งผลต่อภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอย่างมาก และทําให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงจากจุดสูงสุด 266.19 จุด ในปี 2521 มาปิดที่ 149.40 จุด ณ สิ้นปี 2522

วิกฤตราชาเงินทุนได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนทั่วไป นักลงทุนตัดสินใจเทขายหุ้นที่ถืออยู่โดยไม่คํานึงถึงราคา แรงขายที่เกิดขึ้นทําให้ราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ จึงทําให้ปัญหาลุกลามไปทั้งระบบ ตลาดหุ้นไทยในช่วงนั้นถือว่าได้เผชิญกับ ‘ภาวะตลาดหมี’ (Bear Market) เป็นครั้งแรก

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเสียหาย และกลายเป็นบทเรียนให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันการปั่นหุ้น เช่น การกําหนดหลักเกณฑ์การเรียงคําสั่งซื้อขายตามลําดับก่อนหลัง การเพิ่มกฎเกณฑ์ของการเปิดเผยงบการเงินเป็นรายไตรมาส เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลได้ทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น และการจัดตั้งกองทุนหลายกองทุน เช่น กองทุนพัฒนาตลาดทุน กองทุนเพื่อหนุนสภาพคล่องของบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ฯ กองทุนแก้ไขปัญหาธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน 

วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้เกี่ยวข้องในการรับมือกับเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต นับเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสําคัญกับการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาในระยะยาว

ร่วมขับเคลื่อน Roadmap ประเทศไทย
ในยุคโชติช่วงชัชวาล

อีกหนึ่งเหตุการณ์สําคัญที่ส่งผลทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ผลพวงของยุคโชติช่วงชัชวาล หลังจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จนนําไปสู่การพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program ในสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทําให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด เกิดธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน พลังงานและปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก 

ยุคโชติช่วงชัชวาลได้ทําให้การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการเป็นแหล่งระดมทุนด้านตราสารทุนให้แก่บริษัทในอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ มีบริษัทจดทะเบียนใหม่เกิดขึ้นเป็นจํานวนมาก ถือได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นกลไกในการช่วยปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจครั้งสําคัญในขณะนั้น และบริษัทจดทะเบียนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวหลายบริษัทเติบโตจนกลายเป็น ‘Business Stars’ ให้กับประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน โดยได้ช่วยสร้างและยกระดับ ‘ความได้เปรียบในการแข่งขัน’ ให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยจนสามารถออกไปแข่งขันในระดับสากล การเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ฯ จากอานิสงส์ของยุคโชติช่วงชัชวาลได้มีการขยายตัวมาอีกเกือบหนึ่งทศวรรษ