อาคารสํานักงานแห่งแรกเอง ก.ล.ต. ตั้งอยู่ที่ถนนสุรวงศ์
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีการเติบโตในอีกหลายมิติ เช่น การเพิ่มขึ้นของจํานวนและมูลค่าระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน การติดตามและเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน การเพิ่มขึ้นของจํานวนนักลงทุน การเพิ่มขึ้นของปริมาณและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ ส่งผลให้บทบาทและความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีมาตั้งแต่ก่อตั้ง ภายใต้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 อาจมีขีดจํากัดและไม่ทันการณ์ เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องทําหน้าที่เป็น Market Platform ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง การกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ในขณะที่ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก อีกทั้งในขณะนั้น มาตรฐานสากลเกี่ยวกับการกํากับดูแลตลาดทุนเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Commission: SEC) ทําหน้าที่เป็นหน่วยงานกํากับดูแลตลาดทุนของประเทศ และให้ตลาดหลักทรัพย์ (Exchange) ทําหน้าที่เป็นตลาดรอง ของตลาดทุน ซึ่งจะมีบทบาทด้าน Market Operator
ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ของตลาดทุนคือ ‘พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535’ ซึ่งมีสาระสําคัญเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ซึ่งทําหน้าที่กํากับและพัฒนาตลาดทุน มีอํานาจในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกํากับดูแลตลาดทุน การกระทําอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน ผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมทั้งตลาดแรก หรือตลาดที่ออกหลักทรัพย์ใหม่ และตลาดรองหรือตลาดสําหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผ่านการซื้อขายในตลาดแรกแล้ว
กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ระบุให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําหน้าที่เป็นตลาดรอง และเป็นด่านแรกในการตรวจสอบความผิดปกติของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้น โดยจัดให้มีระบบการกํากับ และตรวจสอบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ หากพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำความผิดก็จะรวบรวมข้อมูลส่งให้ ก.ล.ต. เพื่อตรวจสอบในเชิงลึกและนําเนินการกับผู้กระทําความผิดตามกฎหมายต่อไป
อานิสงส์ของยุคโชติช่วงชัชวาล ส่งผลให้ช่วงท้ายของทศวรรษนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างร้อนแรง และทําให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นมาตลอดจนดัชนีราคาหุ้นมาถึงจุดสูงสุดที่ 1,753.73 จุด ในช่วงต้นปี 2537 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2538-2540 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วย ฟองสบู่ มีการกู้เงินจากต่างประเทศ (Offshore) ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยไม่คํานึงถึงความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ยังเกิดสภาวะการเก็งกําไรมากเกินไปในอสังหาริมทรัพย์และหุ้น จนประเทศไทยมีระดับความเสี่ยงสูง