ปี 2539-2548 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เกิดขึ้นเมื่อสถานะทางการเงินของประเทศไทยถูกคาดหมายว่าไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม มีการพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ จึงเกิดการเทขายสินทรัพย์ลงทุนในตลาดต่าง ๆ รวมทั้งตลาดหุ้น ในขณะเดียวกัน ความต้องการขายเงินบาทเพื่อถือเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินบาทจนต้องสูญเสียทุนสํารองเงินตราต่างประเทศจํานวนมาก ในที่สุดต้องมีการลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ภาคธุรกิจเกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังส่งผลต่อการลงทุนทําให้นักลงทุนประสบภาวะขาดทุน ซึ่งมีผลต่อเนื่องทําให้เกิดความอ่อนแอของระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังทําให้แรงงานตกงานเป็นจํานวนมากกระทบต่อภาคครัวเรือน ประเทศไทยได้ร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ถูกขนานนามว่า ‘วิกฤตต้มยํากุ้ง’ และประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกถึง 4-5 ปี กว่าที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้ 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้อย่างหนัก ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมลดลงอย่างมากเนื่องจากความอ่อนแอลงของธุรกิจและการสูญเสียความมั่นใจของนักลงทุน มีการปิดสถาบันการเงิน 56 บริษัท ซึ่งในจํานวนนี้เป็นบริษัทสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ฯ จํานวน 22 บริษัท ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ซบเซาหลังจากเกิดวิกฤตเป็นระยะเวลายาวนานอย่างต่อเนื่อง ทําให้ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Idex) ลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดที่ 204.59 จุด ในวันที่ 4 กันยายน 2541

ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความอ่อนแอของบริษัทจดทะเบียน การสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจหลักทรัพย์ที่คงเหลืออยู่ในขณะนั้น การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตลาดทุนเพื่อช่วยระดมทุนแก่สถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ด้านการลงทุนและการระดมทุนที่ถูกต้องแก่ผู้เกี่ยวข้อง โดยการจัดตั้งสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (Thailand Securities Institute: TSI) และสถาบันวิทยาการตลาดทุน (Capital Market Academy: CMA) ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาความรู้สําหรับผู้ประกอบวิชาชีพในวงการตลาดทุน นักลงทุน ผู้ประกอบการ และผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งการพัฒนาความรู้การเงินขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน (Financial Literacy) จนกลายเป็นหน่วยงานให้ความรู้ด้านการเงินที่สําคัญของประเทศ 

วันเปิดทําการตลาดหลักทรัพย์ mai

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมพร้อมเพื่อมีส่วนร่วมสําคัญสนับสนุนการพลิกฟื้นประเทศไทยในช่วงเวลานั้น ที่มุ่งสร้างและพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้กลับมาเติบโตเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤต จึงได้มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2544 เพื่อให้เป็น Market Platform เพิ่มเติมสําหรับธุรกิจ SMEs 

ในการฝ่าวิกฤตและมุ่งไปข้างหน้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองเห็นสัญญาณว่าในยุคต่อไปเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าเดิม และมีบทบาทในทุกวงการรวมถึงตลาดทุนด้วย

Settrade Grand Opening

จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์แบบออนไลน์ ภายใต้ชื่อ Settrade.com ตั้งแต่ปี 2543 แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่มาถึงปัจจุบัน กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการซื้อขายแบบออนไลน์มีการขยายตัวอย่างมาก และกลายเป็นช่องทางหลักในการซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกวันนี้

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 9

กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 9 กล่าวว่า “จํานวนคนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคแรก ๆ ยังน้อยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะมองตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนกับเป็นศูนย์เก็งกําไร เหมือนเป็นสถาบันการพนันแห่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น การให้ความรู้จึงเป็นเรื่องสําคัญที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้คนทั่วไปทราบว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ คือระบบตลาดรองที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้สินค้าหรือหุ้นมีสภาพคล่องคนจะได้กล้าลงทุน ผมได้รับคําแนะนําจากกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านที่ 5 ก็คือ อาจารย์มารวย ผดุงสิทธิ์ ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่าท่านเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประสบความสําเร็จมากคนหนึ่ง เป็นยุคที่ท่านเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการซื้อขายจากเคาะกระดานมาเป็นใช้คอมพิวเตอร์

“ท่านฝากงานไว้ว่า เราต้องเร่งให้ความรู้กับผู้ที่สนใจ และแก่ประชาชนด้วย ผมจึงให้ความสําคัญในการให้ความรู้ เช่น การจัดสร้างห้องสมุดมารวย ผมได้คุยกับบรรณารักษ์ในการปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องสมุดที่เปิดให้บริการทุกวันถึงห้าทุ่ม เพื่อรองรับผู้ที่ต้องการค้นคว้าข้อมูลหลังเลิกงานหรือเลิกเรียน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจลงทุน เช่น มหกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนที่มีชื่อว่า ‘SET in the City’ และมีการจัดตั้งสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) เพื่อพัฒนาหลักสูตรในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุนให้แก่ผู้บริหารระดับสูงหลากหลายวงการทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกระบอกเสียงและเป็นกระจกให้เราด้วยว่า สิ่งที่เราทํายังมีอะไรบกพร่อง เพราะเชื่อว่าท่านเหล่านั้นอยากเห็นองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นฟันเฟืองที่สําคัญในระบบเศรษฐกิจ”

บรรยากาศในงาน SET in the City

สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)

“การให้ความรู้เป็นเรื่องสําคัญที่
จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
ให้คนทั่วไปทราบว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ
คือระบบตลาดรองที่สร้างขึ้นมา
เพื่อให้สินค้าหรือหุ้นมีสภาพคล่อง”

เร่งวางรากฐานรองรับการเป็นหนึ่ง
ในเสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย

เกือบ 2 ทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจ (ปี 2540-2558) นอกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจให้กลับมาเข้มแข็ง ยังเป็นช่วงเวลาที่ได้วางรากฐานการพัฒนา เพื่อสนับสนุนให้ตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนกว่าในยุคสมัยเดิม นอกจากยังคงทําหน้าที่เป็น Exchange Market Platform ที่ต้องพัฒนากําลังความสามารถให้รองรับการขยายตัวในระยะต่อไปแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเพิ่มบทบาทการเป็นหน่วยงานพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว (Long Term Development Function) ด้วย

การพัฒนา Exchange Market Platform ที่สําคัญเพิ่มเติมในช่วงนี้ ได้แก่ การจัดตั้งบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) (Thailand Futures Exchange: TFEX) การลงทุนเพื่อยกระดับระบบการซื้อขายใหม่ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเทียบเท่าตลาดหลักทรัพย์ระดับสากล ใช้ชื่อว่า SET CONNECT เป็นต้น

สําหรับในด้านการพัฒนาตลาดทุนระยะยาว (Long Term Development) ที่มีการริเริ่มสําคัญ ได้แก่ การส่งเสริมเรื่องบรรษัทภิบาล (Corporate Governance: CG) และความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) แก่บริษัทจดทะเบียน โดยงานต่าง ๆ เหล่านี้ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความยั่งยืนในยุคต่อมา

การเพิ่มบทบาทดังกล่าวถือว่าเป็นการมองการณ์ไกลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคนั้นที่ได้ลงทุนทําเรื่องนี้อย่างชัดเจนแตกต่างจากตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค โดยเชื่อว่าจะทําให้ตลาดทุนขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง ทั้งในด้าน Demand และ Supply และยังส่งผลเชื่อมต่อไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้

ในปี 2545 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการกํากับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CG Center) เพื่อทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษา เป็นแหล่งพัฒนาความรู้และส่งเสริมบริษัทจดทะเบียน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนบนฐานของความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสําคัญ

บรรษัทภิบาล (Corporate Governance: CG) มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและความมั่นใจในการลงทุน และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทจดทะเบียนซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้มีการพัฒนานโยบายแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากลเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนําไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนให้สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) ทําการประเมินระดับการกํากับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนทราบถึงระดับ CG ของตนเอง และหาแนวทางในการยกระดับการกํากับดูแลกิจการให้สูงขึ้น และเพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไป จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันได้ใช้ CGR 3 ดาว เป็นขั้นต่ำของการตัดสินใจลงทุนในบริษัทจดทะเบียน ซึ่งทําให้บริษัทจดทะเบียนต้องตื่นตัวในการรักษาและยกระดับการกํากับดูแลกิจการของตนเองให้ดีอยู่เสมอ

กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 9 แสดงมุมมองไว้ว่า “หนึ่งใน เรื่องที่เราต้องทําให้ดีขึ้นคือ การสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานของบริษัทจดทะเบียน ยึดหลัก 5 ประการ คือ มุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส ใส่ใจอธิบาย คํานึงถึงความเสี่ยง ถ้าองค์กรไหนมีทั้ง 5 ประการ ถือว่าเป็นองค์กรที่ดีมีบรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance ณ ช่วงเวลานั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทํากับสมาคมบริษัทจดทะเบียน ในการผลักดันบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีผู้บริหารจากหลากหลายธุรกิจให้ความสนใจยกระดับบรรษัทภิบาลของบริษัท”

ขณะที่ ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 10 ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้น ของการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสําคัญกับความยั่งยืนว่า ก่อนจะมาเรื่องความยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ที่พูดทุกวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทําเรื่อง Good Governance คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดีมาตั้งแต่ต้นทาง

“ในช่วงที่เริ่มทํางานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ยุคแรก เราก็เน้นเรื่องความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล การกํากับดูแลให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีความโปร่งใส นักลงทุนต้องได้ข้อมูล สมาชิกต้องทํางานเป็นมืออาชีพ แล้วก็ยึดมั่นในเรื่องตัว G หรือ Governance มาตลอด เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกําลังมากขึ้น เราก็คิดถึงอะไรที่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม เราอยากให้คนที่กําลังมองปัญหาของสังคมมาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อเยียวยาหรือเพื่อทําให้สังคมที่มีโอกาสน้อยกว่าได้มีโอกาสมากขึ้นด้วยกําลังของพวกเรา ซึ่งหมายถึง S หรือ Social จึงเริ่มคิดถึงการรวมกลุ่มกัน เช่น CSR Club ระหว่างกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีกําลัง มาช่วยบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กหรือช่วยชุมชนที่ขาดโอกาส ช่วงนั้นเป็นเรื่อง การทํางาน CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคม และได้มีการตั้ง สถาบัน CSRI (Corporate Social Responsibility Institute) ซึ่งต่อมาได้มีการเรียนเชิญ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นประธานคณะกรรมการอํานวยการสถาบันฯ ทําให้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางาน ด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่องตลอดมา เพื่อที่จะสร้างความร่วมมือร่วมใจกับบริษัทอื่น ๆ ให้เข้ามาทํางานด้วยกัน ต่อมาในช่วงประมาณสัก 10 ปีที่แล้ว มีมุมมองในเรื่อง E เข้ามาด้วย คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะว่าเราเกิดปัญหาสภาวะโลกร้อน ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เมื่อประกอบกัน จึงเกิดคําว่า ESG เพื่อความยั่งยืน”

การเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานของ Market Platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดตั้งบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) (Thailand Futures Exchange: TFEX) เพื่อทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าของตลาดทุนไทยในขณะนั้น เนื่องจากการเกิดขึ้นของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถกระทําได้

ผลิตภัณฑ์แรกที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใน TFEX คือ SET50 Index Futures ซึ่งเปิดมิติใหม่ของการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาตลาดทุนไทยไปอีกก้าวหนึ่ง จนถึงปัจจุบัน TFEX มีผลิตภัณฑ์ Futures และ Options ที่อ้างอิงกับสินค้าทางการเงิน สินค้า โภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตรต่าง ๆ หลากหลายประเภท ทําให้เกิดความกว้างและความลึกในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้มากขึ้น

เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 12 กล่าวถึงเรื่องของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าว่า “สมัยที่เข้ามาทํางานในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนที่จะเป็นกรรมการและผู้จัดการ ได้รับมอบหมายให้ทําในสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งต้องก้าวข้ามสิ่งเดิม เป็นความท้าทายมาก นั่นคือ การจัดตั้งตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งในประเทศไทยไม่เคยมีใครทํา เป็นความท้าทายที่ว่าจะทําอย่างไรให้สิ่งที่เป็นทฤษฎีกลายเป็นของที่ขายได้ จับต้องได้ ยิ่งไปกว่านั้น คนในประเทศไทยก็ยังไม่รู้จักคําว่า Futures และ Options แต่โชคดีที่มีทีมงานช่วยกันทําให้จัดตั้งตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ และต่อมาก็มีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ตามมา การสร้าง Product ใหม่ ๆ ให้มีความหลากหลาย เป็นสิ่งจําเป็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรทําให้เกิดความสมบูรณ์ เพราะเป็นการสร้างทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะกับความต้องการและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุน และเป็นการสร้างเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของราคาหุ้น เช่น อาจจะสามารถใช้ Derivatives โดยตรง หรือผ่านกองทุนที่มี Derivatives”