ปี 2549-2558 ยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในภูมิภาค
นอกจากบทบาทการทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ และการเป็นหนึ่งในเสาหลักของการพัฒนาตลาดทุน ระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเห็นความสําคัญของการทําหน้าที่ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย ดังนั้น ในปี 2549 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้จัดสรรเงินเป็นทุนทรัพย์ในการจัดตั้ง มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แก่หน่วยงานและชุมชน
มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ความสําคัญกับประเด็นทางสังคม 3 เรื่องหลัก ได้แก่
- การพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน โดยให้ความสําคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสามารถบริหารจัดการชีวิตตนเอง สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สังคมในอนาคต
โครงการพัฒนาพื้นที่บูรณาการการส่งเสริม EF
- การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล เพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ ลดภาระครอบครัว และสร้างคุณค่าในตัวเอง ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและความเข้มแข็งของชุมชนผู้สูงอายุ
- การเสริมพลังชุมชนตามความต้องการของชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและแก้ปัญหาสังคมในระยะยาว บนฐานการใช้พลังร่วมจากชุมชนและภาคี เพื่อบรรลุเป้าหมายสําคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
ในด้านการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตัดสินใจยกระดับ Capacity ของ Market Platform ครั้งใหญ่ในปี 2555 โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดทุนไทยในอนาคต ด้วยการพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีชื่อว่า ‘SET CONNECT’ ซึ่งมีความสามารถเทียบเคียงระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในระดับโลก นับเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยสู่การแข่งขันและการเชื่อมโยงในระดับสากล
การพัฒนา SET CONNECT ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการ และผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเวลานั้น ที่ต้องเตรียมการวางรากฐาน Infrastructure ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจากข้อเท็จจริงพบว่า ในปี 2555 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เท่ากับ 31,084.24 ล้านบาท และ Market Capitalization เท่ากับ 11.83 ล้านล้านบาท และ 10 ปีต่อมาในปี 2565 ได้ขยายตัวเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 71,226.17 ล้านบาท และ Market Capitalization เท่ากับ 20.44 ล้านล้านบาท การวางรากฐานดังกล่าวจึงช่วยให้รองรับการขยายตัวของตลาดทุนในระยะยาวได้
จรัมพร โชติกเสถียร
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 11
จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 11 ได้เล่าให้ฟังว่า “ยุคที่ผมเข้าไปเป็นยุคที่เราวางโครงสร้างพื้นฐานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งระบบซื้อขาย หรือ Trading System เป็นหนึ่งระบบที่สําคัญ ช่วงที่ผมอยู่ เป็นจุดเปลี่ยน เราเลือกระบบการซื้อขายใหม่ที่เรียกว่า ‘SET CONNECT’ การพัฒนาระบบจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่า เพราะฉะนั้นจึงต้องพัฒนา Capacity ให้ได้ 10 เท่า เพื่อให้คุ้มค่าและเป็นการวางรากฐานในระยะยาว
“Ecosystem ที่สมบูรณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องประกอบด้วย ด้าน Supply ที่เราต้องดึงดูดบริษัทที่ดี ให้เข้ามาจดทะเบียนเพื่อให้นักลงทุนได้ลงทุน ขณะเดียวกัน ด้าน Demand คือนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนต้อง Balance ทั้งนักลงทุนรายบุคคล หรือ Retail และนักลงทุนสถาบัน ซึ่งในช่วงนั้นสัดส่วนนักลงทุน Retail สูงมาก จึงตั้งเป้าว่าจะเพิ่มนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปกองทุนใหญ่ ๆ ของต่างประเทศ จะมี Checklist ในเรื่องขนาดบริษัทจดทะเบียนหรือ Market Capitalization ต้องมีขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้าน เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท และเรื่องของสภาพคล่องหรือ Liquidity ต้องมีการซื้อขายเฉลี่ยไม่น้อยกว่าวันละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาทต่อวัน นอกจาก Supply และ Demand แล้ว ในส่วนของ Infrastructure ก็สําคัญ ที่เราต้อง Upgrade ระบบซื้อขาย เพื่อให้สามารถรองรับการซื้อขายในตลาดโลกได้ด้วย ถ้าเราอยากให้ตลาดโตขึ้น 10 เท่า ก็ต้องมีการลงทุน เช่น อุปกรณ์ ให้สามารถมี Capacity ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การพัฒนาระบบ Trade เรื่องของความเร็วเป็นเรื่องที่สําคัญมาก แต่ในที่นี้ไม่ใช่เร็วอย่างเดียว คําว่า Latency ตั้งแต่วินาทีที่เคาะจนถึงวินาทีที่ Match จะต้องสั้นมาก ระบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด
“ในช่วงพัฒนาระบบ Trade ใหม่ในยุคนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มต้นศึกษาความแตกต่างของแต่ละระบบที่มีอยู่ มีราว 5 บริษัทชั้นนําในโลกที่เข้ามานําเสนอ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีของ Cinnober Financial Technology AB ในการพัฒนาระบบซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพัฒนาระบบงานสําหรับธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ชั้นนําของโลก
“หลังจากพัฒนาระบบ เรามีการซ้อมใหญ่หลายรอบ เพื่อไม่ให้ผิดพลาด ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาในส่วนหลังบ้าน หรือ Clearing & Settlement ซึ่งเป็นหัวใจสําคัญด้วย หลังจากที่เริ่มซื้อขายระบบใหม่ก็สามารถรองรับการซื้อขายได้ดี บางวันสามารถรองรับ Trading Value ได้สูงเกินหลักแสนล้านบาท”
“ยุคที่ผมเข้าไปเป็นยุคที่เราวางโครงสร้างพื้นฐาน
ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งระบบซื้อขายหรือ Trading System
เป็นหนึ่งระบบที่สําคัญ เราเลือกระบบการซื้อขายใหม่ที่เรียกว่า SET CONNECT”
ก้าวเดินสําคัญอีกก้าวหนึ่งของการเป็นผู้นําด้านการพัฒนา ความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคคือการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้าร่วม United Nations Sustainable Stock Exchanges Initiative เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนเมื่อปี 2557 นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีและทําธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทําให้มีบริษัทจดทะเบียนชั้นนําขนาดใหญ่ของไทยที่มีความโดดเด่นได้เรียนรู้มาตรฐานของธุรกิจที่จะเข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยในปี 2555 มีบริษัทจดทะเบียนไทยในดัชนีความยั่งยืนชั้นนําของโลก DJSI จํานวน 2 บริษัท จนถึงปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจํานวนบริษัทที่เข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืน DJSI เพิ่มขึ้นเป็น 13 บริษัท ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรสําคัญที่เชื่อมต่อกับธุรกิจ แรงงาน ผู้บริโภค นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ หากมีการส่งเสริมให้เกิดการผลิต การบริโภคที่ยั่งยืน และการลงทุนที่มีความรับผิดชอบจะเป็นกลไกที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างมาก
เกศรา มัญชุศรี
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 12
เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 12 กล่าวถึงการเป็น Sustainable Stock Exchange ว่า “เมื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของอาเซียนที่ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วม United Nations Sustainable Stock Exchanges Initiative และยังได้ส่งเสริมพัฒนาเรื่องที่เกี่ยวกับ Sustainability ให้แก่บริษัทจดทะเบียน เพราะเรื่องเหล่านี้เป็น Trend ของโลก มาถึงวันนี้เวลาจะลงทุนกองทุนใหญ่ ๆ ต่างประเทศ จะเน้นลงทุนในบริษัทที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ทําลายสังคม
“ในเรื่องของ Sustainability บริษัทจดทะเบียนของไทยขนาดใหญ่หลายบริษัทสามารถเข้าไปอยู่ใน DJSI แล้วถามว่า บริษัทขนาดเล็กและดียังมีอีกเยอะ จะทําอย่างไรจึงได้ Create คําว่า Thailand Sustainability Investment (THSI) เพื่อให้บริษัทขนาดเล็กและดีได้เข้ามาเป็นทางเลือกของการลงทุนแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในยุคที่เป็นกรรมการและผู้จัดการ สิ่งที่ภาคภูมิใจคือการได้เป็นกรรมการสหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (World Federation of Exchanges: WFE) ครั้งแรกเมื่อปี 2559 นับเป็นอีกก้าวที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีส่วนร่วมในระดับนานาชาติได้”
“สิ่งที่ภาคภูมิใจคือ การได้เป็นกรรมการ
สหพันธ์ตลาดหลักทรัพย์นานาชาติครั้งแรก เมื่อปี 2559
นับเป็นอีกก้าวที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีส่วนร่วมในระดับนานาชาติได้”