การวางรากฐานเพื่อความยั่งยืนของตลาดทุนไทย
การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2518 เป็นต้นมา อยู่ภายใต้การวางรากฐานของระบบงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาลทั้งขององค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง และของผู้เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน เป็นต้น
ในด้านระบบการซื้อขายต้องคํานึงถึงความยุติธรรม (Fairness) ความโปร่งใส (Transparency) ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) เพื่อสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้เกี่ยวข้องดําเนินการอย่างมืออาชีพและมีความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) ส่วนในด้านบริษัทจดทะเบียนนั้น การคัดเลือกธุรกิจที่เข้ามาจดทะเบียนต้องทําให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะได้ ‘บริษัทที่ดีและเก่ง’ ในด้านระบบการดําเนินธุรกิจที่มีมาตรฐานสูง มีระบบควบคุมภายในที่ดี ซึ่งสะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย นอกจากนี้ ยังกําหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินธุรกิจเป็นระยะ เพื่อเป็นข้อมูลสําคัญให้นักลงทุนตัดสินใจได้อย่างทันเวลา
ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา การดําเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ถูกทดสอบและทําให้เกิดการพัฒนาความเข้มแข็งเกี่ยวกับธรรมาภิบาลมาโดยตลอด เช่น การเผชิญกับภาวะการปั่นหุ้นครั้งแรก ในปี 2522 ทําให้เกิดการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกํากับการซื้อขายหลักทรัพย์และการเปิดเผยข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น ในปี 2538 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เสนอแนะให้บริษัทจดทะเบียนปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการให้มีกรรมการอิสระ เพื่อคอยช่วยทําหน้าที่ Check and Balance ซึ่งถือเป็นหลักการหนึ่งของการกํากับดูแลกิจการที่ดี และได้ยกระดับเพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการตรวจสอบในปี 2541
อย่างไรก็ดี หลังเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ของประเทศไทย เมื่อมีการทบทวนพบว่าการซวนเซของธุรกิจจํานวนมาก ซึ่งรวมบริษัทจดทะเบียนด้วยล้วนมีส่วนมาจากการไม่มีภูมิคุ้มกัน ความไม่พอประมาณ ความไม่มีเหตุมีผล และขาดความรู้คู่คุณธรรม สะท้อนให้เห็นว่าธรรมาภิบาลของผู้เกี่ยวข้องยังต้องพัฒนาและยกระดับต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาดในช่วงนั้นได้ดําเนินการรณรงค์และพัฒนามาตรฐานด้านการกํากับดูแลกิจการ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนใช้เป็นแนวทางพัฒนา ‘บรรษัทภิบาล’ ให้ดียิ่งขึ้น ต่อมา กระแสการพัฒนาบรรษัทภิบาลไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะเรื่องการมีระบบการดำเนินงานที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ธุรกิจถูกคาดหวังให้ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ในปี 2550 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Institute: CSRI) เพื่อส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานความรู้และส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและผู้เกี่ยวข้องดําเนินการในเรื่องนี้
ในช่วงเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 การพัฒนาบรรษัทภิบาลได้ค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ยุค ‘การพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Corporate Sustainability)’ ซึ่งเป็นการบูรณาการเรื่องการกํากับดูแลกิจการที่ดีเข้ากับการดําเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกมีความเสื่อมโทรมและมีปัญหาที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการจึงควรมีส่วนรับผิดชอบ และแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เร่งดำเนินการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental: E) ด้านสังคม (Social: S) และด้านการกํากับดูแลกิจการ (Governance: G) จนประสบความสําเร็จได้รับการยอมรับว่าเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการพัฒนาด้าน ESG Products ที่โดดเด่นในภูมิภาค
ผลงานสําคัญเกี่ยวกับการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงทศวรรษนี้ สรุปได้ดังต่อไปนี้
เร่งพัฒนาบริษัทจดทะเบียนเข้าสู่ยุค ESG
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทําหน้าที่เป็น ESG Standard Setting Center โดยศึกษามาตรฐานสากลในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของธุรกิจ ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ และพัฒนา ESG Showcases ของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรด้าน ESG ให้แก่บริษัทจดทะเบียนมาอย่างต่อเนื่อง สําหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้จัดทำโครงการ ‘จิ๋วแจ๋ว’ เพื่อสร้างต้นแบบแก่บริษัทอื่น ๆ ให้เห็นว่าการพัฒนา ESG สามารถนําไปสู่การสร้างมูลค่า ที่ยั่งยืนแก่กิจการได้
จากข้อมูลในปี 2559-2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาคลังความรู้ใน SET ESG Academy แบบ Online (www.setsustainability.com) และเชื่อมโยงไปยังระบบ SETLink เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนได้เรียนรู้ ในระยะที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาหลักสูตรด้าน ESG สําหรับบริษัทจดทะเบียนให้แก่บุคลากรของบริษัทจดทะเบียนได้เข้าอบรม
ในด้านการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แนะนําและส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนที่มีความพร้อมเพิ่มเติมข้อมูลด้าน ESG เข้าไว้ใน Annual Report และ/หรือ จัดทํา Sustainable Development Report (SD Report) เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกด้านการพัฒนาความยั่งยืนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน
ในปี 2563 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือกับสํานักงาน ก.ล.ต. และผู้เกี่ยวข้องจัดทําแผนการดําเนินงานปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนให้รวมข้อมูลด้าน ESG เรียกว่า One Report ถือว่าเป็นการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลครั้งสําคัญ ซึ่งนอกจากจะมีการเปิดเผยข้อมูลการกํากับดูแลกิจการแล้ว ยังเพิ่มเติมข้อมูลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย ตัวอย่างการเปิดเผยข้อมูลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ ข้อมูลการใช้น้ำ และพลังงาน ข้อมูลการจัดการเรื่องขยะ ของเสีย และมลพิษ ข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน เป็นต้น ส่วนการเปิดเผยข้อมูลการดูแลสังคมทั้งใกล้และไกลของบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ ข้อมูลการดูแลพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า รวมทั้ง ชุมชนและสังคม ฯลฯ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนา ESG Data Platform เพื่ออํานวยความสะดวกให้บริษัทจดทะเบียนสามารถจัดข้อมูล ESG ให้เป็น Structured Data และส่งเข้ามายังฐานข้อมูล โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนที่จะเพิ่มกลไกเกี่ยวกับ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งในระดับ Company Level, Sector Level, Industry Level และ Market Level ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ส่งเสริมการลงทุนอย่างรับผิดชอบ
จากผลพวงการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ทําให้ในทศวรรษที่ 5 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถจัดกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ที่เรียกว่าเป็นกลุ่มหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) เพิ่มขึ้น นําไปสู่การพัฒนา ESG Products ในตลาดทุนเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนอีกหลากหลายตามมา ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นยั่งยืนได้สะดวกขึ้น ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ยังได้รับการคัดเลือกมาจัดทําเป็นดัชนีและเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ส่วนบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ระดับสากล ก็มีจํานวนบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลกเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มขึ้นมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่การพัฒนา ESG เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนเริ่มประสบผล ในอีกด้านหนึ่งกระแสความสนใจการลงทุนในธุรกิจที่ใส่ใจการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเริ่มมีมากขึ้นเป็นลําดับ หรือที่เรียกว่า ‘การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ’ (Responsible Investment) และกลุ่มนักลงทุน ‘Responsible Investors’ ก็จะมีจํานวนและบทบาทมากขึ้นในอนาคต กลุ่มนักลงทุนประเภทนี้จะเลือกลงทุนใน ESG Products เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด ได้เร่งพัฒนาความรู้และออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นยั่งยืน โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ด้วยตนเอง หรือลงทุนโดยอ้อมผ่านผลิตภัณฑ์ เช่น กองทุนรวมด้าน ESG เป็นต้น
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร แฟชั่น การขนส่ง การรักษาพยาบาล การพักผ่อนหย่อนใจ และการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพมีความสามารถในการแข่งขันและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้ และเมื่อประเทศมีรายได้มากขึ้นจะส่งผลให้คนไทย มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในปี 2562 จึงได้ริเริ่มการออกดัชนี SET Well-Being (SETWB) เพื่อสร้างความโดดเด่น ให้กับบริษัทจดทะเบียนที่ทําธุรกิจดังกล่าวและเพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุนที่สนใจบริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้
เตรียมพร้อมรองรับสู่ยุคการพัฒนาความยั่งยืน
แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พยายามส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ESG ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของตลาดทุน จนเกิดพัฒนาการที่ดีมาในระดับหนึ่ง แต่กระแสการพัฒนาความยั่งยืนในอนาคตจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น ภาวะโลกร้อน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าที่คาด จนมีข้อตกลงจากการประชุม Conference of the Parties ครั้งที่ 26: COP26 ที่สกอตแลนด์ ให้ประเทศต่าง ๆ พยายามกําหนดระยะเวลาการประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และประกาศการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจของประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวให้มีแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกบนกระบวนการทําธุรกิจอย่างเข้มข้น หากไม่ใส่ใจในเรื่องดังกล่าวอาจถูกกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้
ในด้านสังคมก็เช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมพร้อมที่จะส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนถึงประเด็นสําคัญด้านสังคม (Social Materiality) ที่เกี่ยวข้องบนกระบวนการธุรกิจออกมาให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งนําเสนอแผนดําเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง เช่น การดูแลความปลอดภัยในการทํางาน การวางแผนค่าตอบแทนและสวัสดิการ การแก้ไขข้อพิพาททางแรงงาน การจัดทําแผนการจัดการสิทธิมนุษยชน การบริหารจัดการชุมชนและสังคม เป็นต้น โดยผ่านเครื่องมือที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอยู่ เช่น SET Social Impact Platform และ SET ESG Academy เป็นต้น ผลลัพธ์ในการพัฒนาดังกล่าวสามารถทําให้เกิดความลึกด้าน ESG Products เพิ่มขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
ยกระดับการกํากับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทุน
ในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยกําลังค่อย ๆ ปรับตัวภายหลังภาวะเหตุการณ์ COVID-19 มีเหตุการณ์สําคัญที่เป็นบทเรียนในตลาดทุนไทย เหตุการณ์แรก ได้แก่ กรณีหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จํากัด (มหาชน) (MORE) เกิดความผิดปกติในการซื้อขายในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งพบว่า มีการปั่นหุ้น ทําให้เกิดความเสียหายจากหนี้วงเงิน Margin กับ Broker หลายแห่ง นอกจากนี้ ยังพบว่ามี Broker บางแห่ง นําเงินของลูกค้ารายอื่นมาชําระราคาในการซื้อขายหุ้นนี้ จึงเกิดความเสียหายในวงกว้าง จากกรณีดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้เกี่ยวข้องต้องดําเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรการ เพื่อป้องกันการปั่นหุ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบการทํางานของ Broker ซึ่งยังมีช่องว่างอยู่
อีกกรณีคือ หุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) (STARK) ที่เกิดจากการส่งงบการเงินประจําปี 2565 ล่าช้ากว่าที่กําหนด ซึ่งต่อมาพบว่าเกิดการทุจริตของผู้บริหาร ทั้งจากการยักยอกเงินบริษัทและตกแต่งงบการเงิน ซึ่งเมื่อข้อมูลดังกล่าวถูกพบและเปิดเผย ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะการเงินของ STARK และเริ่มมีการดําเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง
ความผิดพลาดและความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อผู้ถือหุ้นสามัญ และผู้ถือหุ้นกู้ STARK รวมทั้ง เกิดคําถามเกี่ยวกับบทบาทและธรรมาภิบาลของคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัท และความเชื่อมั่นโดยรวมของตลาดทุน
ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ของกรณีดังกล่าว กลไกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังทําหน้าที่อย่างเต็มที่ทั้งในด้านการกํากับการซื้อขายหลักทรัพย์และการกํากับบริษัทจดทะเบียนในด้านการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 กรณี นําไปสู่การยกระดับครั้งใหญ่ ตั้งแต่กระบวนการรับหลักทรัพย์จนถึงการดํารงสถานะในการเป็นบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้สามารถดูแลบริษัทจดทะเบียนให้มีความเข้มแข็งขึ้น การเพิ่มเครื่องมือในการเตือนนักลงทุนกรณีที่หุ้นมีสัญญาณของปัญหา รวมทั้งการปรับปรุงระบบงานของสถาบันตัวกลางให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งมีความเคลื่อนไหว ผลักดันและร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การก้าวต่อ ๆ ไปเป็นก้าวที่มั่นคง และตอบโจทย์ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกหนึ่งเสาหลัก เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน