ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รองรับทุกความต้องการในการลงทุน

เมื่อโลกแห่งการลงทุนมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความน่าสนใจให้แก่ตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนสถาบัน หรือสถาบัน ตัวกลางที่เข้าใจความต้องการนักลงทุนบุคคลเป็นอย่างดีก็เห็นพ้องต้องกันถึงความจําเป็นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตรงความต้องการของนักลงทุน

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสําคัญมาก
ในการคัดสรรบริษัทที่ดีเข้ามาสู่ตลาด
ถ้ามีกิจการดี ๆ มาจดทะเบียน
แล้วผลประกอบการก็ออกมาดีอย่างต่อเนื่อง
ก็จะตอบโจทย์เราที่มองต่างกับคนอื่น
เรามองหาการลงทุนที่สร้างความยั่งยืน
ในระยะยาว”

ศรีกัญญา ยาทิพย์
อดีตเลขาธิการกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.)

ในมุมมองของนักลงทุนสถาบัน ศรีกัญญา ยาทิพย์ อดีตเลขาธิการกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (กบข.) แสดงความคิดเห็นว่า

“นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ที่น่าสนใจ มีศักยภาพ และมีประวัติที่ดี ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่คัดสรรบริษัทเหล่านี้เข้ามา เงินทุนย่อมไหลไปอยู่ที่อื่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีความสำคัญมากในการคัดสรรบริษัทที่ดีเข้ามาสู่ตลาด ถ้ามีกิจการดี ๆ มาจดทะเบียนแล้วผลประกอบการก็ออกมาดีอย่างต่อเนื่อง ก็จะตอบโจทย์เราที่มองต่างกับคนอื่น”

“เรามองหาการลงทุนที่สร้างความยั่งยืนในระยะยาว เราพูดกับสมาชิก กบข. เสมอว่าการที่ลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเจ้าของกิจการร่วมกับเจ้าของที่แท้จริง แล้วเติบโตไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นแปลว่าไม่ได้คาดหวังว่าทุกปีจะต้องกําไร ทุกปีจะต้อง Perform เพราะเรามองว่ากิจการต้องมี Investment ถ้ากิจการไม่ลงทุน กิจการก็ไปต่อไม่ได้ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีบทบาทในการนําบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ยั่งยืนทั้งในแง่ Financial และ ESG มาจดทะเบียนเยอะก็ทําให้นักลงทุนสถาบันมีทางเลือกเยอะ”

บุญพรในฐานะที่ให้บริการใกล้ชิดกับนักลงทุนรายบุคคล มองว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายเป็นเรื่องที่ดี ที่สําคัญผู้ให้บริการต้องเสนอผลิตภัณฑ์ให้ถูกคน ถูกกลุ่ม

“เราพยายามปูพื้นฐานพนักงานให้เป็นนักวางแผนทางการเงินที่ดี ไม่ใช่แค่ให้คําแนะนําว่า ‘ซื้อหุ้นตัวนี้สิ ขายตัวนั้นสิ’ การเป็นนักวางแผนที่ดีต้องรู้จักลูกค้า รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ให้บริการตามที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่ตามเราต้องการ เราไม่อยากให้มีกลุ่มของนักลงทุนเก็งกําไรอย่างเดียวเพราะจะไม่ยั่งยืน ดังนั้น เราจึงต้องสอนให้พนักงานรู้จักการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและนําเสนอประโยชน์ของผลิตภัณฑ์และการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกมากขึ้น เช่น DR และ DRx ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ ถ้ามองภาพใหญ่ ตลาดทุนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดทุนในหลาย ๆ ประเทศ ต้องบอกว่าเรามีปริมาณการซื้อขายที่ไม่น้อยหน้าใคร แต่สิ่งที่ต้องถามต่อไปคือ วันนี้เรามีสินทรัพย์ที่รองรับต่อการเติบโตในอนาคตหรือยัง ตอนนี้คนมีความรู้เรื่องการลงทุนมากขึ้น ต่างจากสมัยก่อน การแข่งขันก็สูงขึ้น การมีสินทรัพย์ที่ยังไม่หลากหลายเพียงพอทําให้ไม่สามารถตอบโจทย์นักลงทุนในบางกลุ่มได้ อาจเป็นปัจจัยที่เราต้องกลับมาขบคิดและปรับปรุงให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและสามารถขยายการลงทุนไปยังนักลงทุนกลุ่มใหม่ ๆ ได้ ท้ายที่สุดย่อมย้อนกลับมาทําให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดเราคึกคักมากขึ้น”

จากโจทย์นี้เองทําให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์พัฒนาการของโลกการลงทุนในแต่ละยุค ในยุคที่เริ่มก่อตั้งก็มีสินค้าเพียงหุ้น หุ้นกู้ และต่อมาก็เพิ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอนุพันธ์ ต่อมาเมื่อโลกการลงทุนถูกเชื่อมต่อแบบไร้พรมแดนผ่านเทคโนโลยี ตลาดหลักทรัพย์ไทยจึงต้องสร้างโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ผ่านผลิตภัณฑ์ เช่น ETF, DR, DR Linkage ไทย-สิงคโปร์, DW บน DJSI, NASDAQ-100 Index, Hang Seng Tech Index และอ้างอิงหุ้นในตลาดฮ่องกง

นอกจากนี้นักลงทุนไทยก็สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างประเทศได้ผ่าน Holding Company, Infrastructure Trust และ REIT เป็นต้น รวมถึงสินทรัพย์การลงทุนใหม่ ๆ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) ซึ่งปัจจุบันได้ริเริ่มให้มีสินทรัพย์มาซื้อขายแล้ว ได้แก่ RealX

“ผมเชื่อว่าการสร้าง New Product
องค์ประกอบที่สําคัญคือการให้ความรู้
เราต้อง Educate ตลาดก่อน ที่ผ่านมา
ก็ได้ร่วมกันทํางาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง
ก็เห็นประโยชน์ของการหาผลิตภัณฑ์
ที่จะเข้ากับนักลงทุนได้กว้างขึ้น”

สมจินต์ ศรไพศาล
กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

การพัฒนาผลิตภัณฑ์และ Infrastructure ให้รองรับการซื้อขาย ทั้ง Traditional Assets และ Digital Assets ถือเป็นภารกิจสําคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจนเกิดพัฒนาการด้านผลิตภัณฑ์ที่สําคัญในตลาดทุนไทย

สมจินต์เล่าประสบการณ์การร่วมพัฒนา ETF ในยุคเริ่มแรกว่า

“ตอนนั้นได้มีโอกาสเข้าไปพบกับ ดร.เศรษฐพุฒิตอนที่ท่านอยู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าสนใจเรื่อง ETF ซึ่งน่าจะเป็น New Product สําหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ สุดท้ายตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ออก TOR ว่าถ้ามี บลจ. ไหนที่สนใจการออก ETF ก็เชิญมาประกวดกัน สุดท้ายเราประสบความสําเร็จในการ Convince คณะกรรมการในการสร้าง ETF ขึ้นในประเทศไทย เหตุผลสําคัญที่ใช้มีหลายเรื่อง แต่ที่สําคัญเรื่องแรกการมาพร้อมกับระบบ เพราะเราได้ Korea Stock Exchange มา Provide ตัว System ให้รองรับ ETF อีกส่วนหนึ่งก็คือผมเป็นอาจารย์ ผมเขียนหนังสือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น ผมมีความเชื่อว่าการสร้าง New Product องค์ประกอบที่สําคัญที่สุดคือการให้ความรู้ ขณะนั้นจึงได้เริ่ม Educate ตลาดก่อนผ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจห้าฉบับ ตีพิมพ์บทความทุกสัปดาห์ เขียนไปเขียนมาได้ 50 บทความในเวลาปีครึ่ง นี่ก็คือพลังที่เราร่วมกันทํางาน และตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง ก็เห็นประโยชน์ของการหาผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ากับนักลงทุนได้กว้าง ๆ ซึ่ง ETF เหมาะอย่างมากสําหรับคนที่เริ่มต้นลงทุน”

ในด้านสินค้าประเภทอนุพันธ์ ชาญชัย กงทองลักษณ์ ประธานกรรมการ ชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (FI Club) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เล่าถึงบทบาทของชมรมในการร่วมกันทํางานอย่างใกล้ชิดกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า

“ตั้งแต่ตลาดอนุพันธ์ก่อตั้งมาจนถึงวันนี้ ก็ถือว่ามีพัฒนาการที่ค่อนข้างดี อาจจะแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือในช่วง 2-3 ปีแรก อนุพันธ์เป็นเรื่องใหม่สําหรับบ้านเรา ชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ร่วมกับ TFEX ในการกําหนดกติกาในการซื้อขายอนุพันธ์เพื่อให้อุตสาหกรรมถือปฏิบัติ พอถึงช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้นเริ่มจาก SET50 Index ตามมาด้วย Options แล้วก็ Single Stock Futures

“หลังจากนั้นก็มีอนุพันธ์ที่ Link กับต่างประเทศ เช่น ทองคํา หรือว่า Exchange Rate ต่าง ๆ เช่น USD Futures เป็นต้น ก็เป็นระยะเวลาที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนในประเทศได้ซื้อและนํามาใช้ป้องกันความเสี่ยง และในช่วงที่ 3 ก็เป็นการพัฒนาสภาพคล่องของ SET50 Futures ท้ายที่สุดเราก็ช่วยกันพัฒนาสภาพคล่องของอีกหลายผลิตภัณฑ์

“ผมคิดว่าความสมบูรณ์และความลึกของตลาดมีมากพอที่จะทําให้การบริหารความเสี่ยงด้วยการใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน

“ตลาดอนุพันธ์ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2549
จนถึงวันนี้ ก็ถือว่า มีพัฒนาการที่ค่อนข้างดี
ผมคิดว่าความสมบูรณ์และความลึกของตลาด
มีมากพอที่จะทําให้การบริหารความเสี่ยง
หรือการใช้เครื่องมือตราสารอนุพันธ์
เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน”

ชาญชัย กงทองลักษณ์
ประธานกรรมการ ชมรมผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (FI Club)  สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

“โดยส่วนตัวผมคิดว่าตลาดเดินทางมาไกลพอสมควร ปริมาณธุรกรรมก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ แต่ยังมีอีกผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่คล่องตัวก็คือ Options ตัวผลิตภัณฑ์นี้เราได้ออกมานานแล้ว แต่ปริมาณธุรกรรมยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ คนไทยส่วนใหญ่อาจจะเป็นคนชอบลงทุนแบบไม่ซับซ้อน เช่น Futures การพัฒนาให้ Options มีปริมาณธุรกรรมและมีสภาพคล่องมากกว่านี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งสําคัญ และตลาดบ้านเรามีความแปลกอีกเรื่องคือ Derivative Warrant จริง ๆ คือ Options ตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งจัดให้อยู่ในตลาดอนุพันธ์ แต่ที่ประเทศไทย Warrant เกิดก่อนตลาดอนุพันธ์ Warrant จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถ้านํา Derivative Warrant มาเทรดอยู่ในตลาดอนุพันธ์ ผมว่ามีโอกาสที่ตลาดอนุพันธ์จะมีปริมาณธุรกรรมมากขึ้น ปัจจุบันอนุพันธ์ที่ Active ก็จะเป็นตัวที่อ้างอิงกับตลาดหลักของเรา เช่น SET50 Index Futures, Single Stock Futures ถัดมาเป็นตัวที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน เช่น USD Futures ซึ่งองค์กรธุรกิจที่มี Exposure เกี่ยวกับ Exchange Rates น่าจะใช้ตลาดอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Fix อัตราแลกเปลี่ยนในการค้าขายของตัวเองได้เพราะมีต้นทุนการทํารายการที่ต่ำกว่าการซื้อ Forward จากธนาคารพาณิชย์แล้วก็สะดวกกว่าอีกด้วย”

การสร้างความหลากหลายของสินค้าประเภทอนุพันธ์เป็นสิ่งที่ควรมี แต่ไม่จําเป็นต้องมีทุกสินทรัพย์ที่เป็นเทรนด์ของโลก อย่างเช่น การลงทุนในโลหะประเภทแพลทินัมหรืออิริเดียม เพราะคนไทยไม่รู้จัก ที่สําคัญเมื่อลงทุนไปแล้วก็ไม่มีความรู้เพียงพอเมื่อเทียบกับประเทศที่ใช้งานหรือคุ้นเคยกับ Commodity นั้น ดังนั้น สิ่งที่ควรจะให้ความสนใจมากกว่าคือสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

อดิศร เสริมชัยวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน กสิกรไทย จํากัด เล่าถึงบทบาทความร่วมมือของนักลงทุนสถาบันในการช่วยขยายฐานนักลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาวและกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้คนไทยออมเงินในระยะยาวว่า

“ในช่วงปี 2534 มีความพยายามที่จะสร้างนักลงทุนสถาบันโดยมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน บริษัทหลักทรัพย์ก็ร่วมทุนกันจัดตั้งขึ้นมา บลจ.กสิกรก็เป็นหนึ่งในนั้น ในตอนนั้นหากมีนักลงทุนรายย่อยอย่างเดียวก็จะขาดเสถียรภาพจึงริเริ่มจัดตั้งสถาบันขึ้นมาก็ระดมทุนได้จํานวนมาก ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมว่าเราได้นักลงทุนใหม่ ๆ ผ่านผู้ลงทุนสถาบัน ผ่านกองทุนจํานวนมากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณภาครัฐและตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สร้างกลไกให้เกิดการลงทุนแบบใหม่ เช่น แรงจูงใจด้านภาษี โดยเฉพาะช่วงวิกฤตปี 40 ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ สมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้กระทรวงการคลังใช้มาตรการทางภาษี และร่วมกันจัดตั้งกองทุน LTF/RMF ขึ้นมา นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สําคัญมากในมุมของนักลงทุนสถาบันที่ช่วยขยายฐานนักลงทุนให้คนที่มีเงินน้อยและไม่มีเวลาดูแลการลงทุนด้วยตนเอง สามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มาถึงวันนี้ต้องบอกว่านักลงทุนสถาบันของไทยที่ลงทุนผ่านกองทุน LTF/RMF น่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด”

“ช่วงวิกฤตปี 40 ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ สมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้
กระทรวงการคลังใช้มาตรการทางภาษี และร่วมกันจัดตั้งกองทุน LTF/RMF ขึ้นมา
นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สําคัญมาก มาถึงวันนี้ต้องบอกว่า นักลงทุนสถาบันของไทยที่ลงทุน
ผ่านกองทุน LTF/RMF น่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด”

อดิศร เสริมชัยวงศ์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จํากัด

ปี 2564 เป็นอีกก้าวที่สําคัญในการริเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนไปสู่ภูมิภาคเป็นครั้งแรกในอาเซียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เริ่มโครงการ Thailand-Singapore DR Linkage ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-สิงคโปร์ ในการสร้างโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนทําให้นักลงทุนไทยและสิงคโปร์สามารถที่จะเข้าถึงการลงทุนในอีกตลาดหนึ่งได้อย่างสะดวกด้วยการซื้อขาย Depositary Receipt หรือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนที่มีอยู่ Loh Boon Chye ให้ความเห็นว่าการเชื่อมโยง DR ที่มากขึ้นจะทําให้เกิดการเชื่อมต่อข้ามพรมแดนที่มากขึ้น และเพิ่มโปรไฟล์ของอาเซียนในกลุ่มนักลงทุนที่กว้างขึ้นเช่นกัน

ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เปิดซื้อขาย DR อ้างอิงหุ้นไทยแล้ว 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) และบมจ. ปตท. สํารวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดซื้อขาย DR อ้างอิงหุ้น Singapore Airlines (SIA) ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์อาเซียนครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสําคัญของการช่วยกันเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับภูมิภาคช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

การเชื่อมโยงโลกการลงทุนไทยกับการลงทุนโลกเป็นความท้าทายหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเดินหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาสการลงทุนให้แก่คนไทย

DR หรือ Depositary Receipt เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสํานักงาน ก.ล.ต. จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศมา แล้วเสนอขาย DR ให้แก่นักลงทุนไทย ในรูปสกุลเงินบาท

DRx หรือ (Fractional Depositary Receipt) ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ที่ไม่ต้องชื้อขายเป็นจํานวนเต็มของหน่วย เพิ่มโอกาสการลงทุนในหุ้นต่างประเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย สามารถซื้อขายได้ตามเวลาของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และสามารถชื้อขายเป็นจํานวนเงินบาทหรือจํานวนหน่วยก็ได้

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มี DR และ DRx จดทะเบียนทั้งสิ้น 18 และ 5 หลักทรัพย์ตามลําดับ โดยเป็น DR ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรป มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม ของ DR และ DRx ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาท