“ผู้นําเปรียบเสมือนผู้คุมหางเสือ
สิ่งสําคัญคือการกําหนดทิศทางให้ถูกต้อง
เพื่อให้องค์กรไม่หลงทางท่ามกลางความผันแปรในแต่ละยุคสมัย”


วาทะอันเฉียบคมของ จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 11
สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของการพัฒนาตลาดทุนไทยด้วยเทคโนโลยี

เผชิญหน้ากับความท้าทาย

“การจะทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคได้อย่างมั่นคงนั้น ตัวองค์กรเองต้องเข้มแข็งก่อน” จรัมพรกล่าว และเล่าต่อว่า เป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือทําอย่างไรให้ตลาดทุนไทยแข็งแกร่งในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งได้กลายเป็นภารกิจท้าทายที่วางยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่มีภาคตลาดทุน ทั้ง Primary Market, Secondary Market ที่แข็งแรงจึงจะทําให้ Capital Market เติบโตได้อย่างยั่งยืน

จรัมพรเข้ามารับช่วงบทบาทสําคัญในยุคที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กําลังอยู่ระหว่างวางโครงสร้างพื้นฐาน และทําความเข้าใจกับ Ecosystem ของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ความร่วมมือของตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Exchanges) ทั้งที่ในยุคนั้นตลาดทุนไทยยังมีมูลค่าซื้อขายเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นําแล้ว

“Ecosystem ณ ช่วงเวลานั้น ต้องกลับมาดูว่าประเทศจะสมบูรณ์แข็งแรงได้ต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หากแยกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือต้องดึงดูด Supply หรือบริษัทที่ดีให้เข้ามาจดทะเบียน เพื่อเป็นตัวเลือกให้นักลงทุน ส่วนถัดมาคือ Infrastructure ระบบต้องดี และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ Demand หรือนักลงทุน

“ในช่วงแรกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดนต่อว่าต่อขานจากหลายฝ่ายว่าเป็นตลาดที่เล็ก สัดส่วนการซื้อขายอยู่ที่ Retail เป็นหลัก ซึ่งไม่ได้มีข้อเสียอะไร เราควรบาลานซ์โดยเพิ่มจํานวนสถาบันในสัดส่วนที่มากขึ้นถึงจะถูก”

“หัวใจสําคัญของการเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน
คือการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนที่มี Market Cap สูงและมีสภาพคล่องสูง
ให้มีจํานวนเพียงพอ เพื่อให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้”

จรัมพรเล่าต่อว่า สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจทําในช่วงนั้น คือออกไปเดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อดึงนักลงทุนสถาบันต่างประเทศให้เข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยร่วมเดินทางกับคุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคนั้น ซึ่งการลงทุนในหุ้นไทยสมัยนั้นยังค่อนข้างจํากัด SET Index ยังไม่ถึง 800 จุดด้วยซ้ํา

อุปสรรคสําคัญที่บรรดานักลงทุนสถาบันยุคนั้นไม่นิยมลงทุนในหุ้นไทย เพราะกองทุนขนาดใหญ่มักให้ความสําคัญกับบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณสมบัติตามที่วางไว้คือ Market Cap อย่างน้อย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนั้นมีบริษัทไทยที่เข้าเกณฑ์จํานวนจํากัด

ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสําคัญไม่แพ้กันคือสภาพคล่องของหุ้นมีการกําหนดตัวเลขการเทรดไว้ที่วันละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาท ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยหันมาสนับสนุนกลุ่มบริษัท ซึ่งเทรดอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับตัวเลขที่วางไว้ เพื่อผลักดันให้ไปถึงตัวเลขเป้าหมาย ผ่านการเสนอบริการในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อให้หุ้นของบริษัทจดทะเบียนมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ๆ

“ยกตัวอย่างเช่น หุ้นปันผล Stock Dividend ที่ทําให้มีจํานวนหุ้นที่เทรดมากขึ้น ได้ Free Float เพิ่มขึ้น โดยเสนอทางเลือกให้บริษัทจ่าย Dividend เป็นหุ้นแทนเงินสดเพื่อสร้าง Tradable Stock ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องได้ รวมถึงโครงการ Employee Joint Investment Program หรือ EJIP ซึ่งเป็นแนวทางการให้พนักงานเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท

“ผมจําได้เลยว่ามีทั้งหมด 10 เมนู ของบริการการเงินที่แนะนําให้บริษัทจดทะเบียนนําไปใช้ แต่ละเมนูเป็นกระดาษหนึ่งแผ่น กระดาษ A4 สีรุ้ง แผ่นหนึ่งสีเหลือง สีส้ม สีแดง รวม 10 สี เป็นเมนูที่เตรียมไว้ แล้วแต่ว่าเดินไปหาบริษัทไหนจะยื่นโปรแกรมอะไรให้ แต่ทั้ง 10 โปรแกรมจะเป็นเพื่อการเพิ่มสภาพคล่องทั้งนั้น”

ผลพวงจากสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําในตอนนั้นมีส่วนช่วยเพิ่มจํานวนบริษัทที่สถาบันลงทุนได้จาก 8 บริษัท ขึ้นไปเป็น 25 บริษัท และมากที่สุดในอาเซียนอีกด้วย การมีบริษัทที่อยู่ใน Checklist ของสถาบันต่างประเทศ ทําให้มี Volume การซื้อขายจากสถาบันต่างประเทศสูงขึ้นมาก 

ส่วนฝั่งนักลงทุนรายบุคคลที่มีสัดส่วนค่อนข้างมาก และ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนเก็งกําไรระยะสั้น หรือ Day Trade เมื่อไปดูต้นตอของปัญหาก็พบว่าช่วงนั้นนักลงทุนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุน จึงนํามาสู่โครงการ ‘Banker to Broker’ เปลี่ยนคนที่มีเงินฝากจํานวนมากให้ก้าวเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น โดยมีโครงการต่าง ๆ ที่ทําให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น ซื้อหุ้นที่มีคุณภาพเพื่อออมในหุ้นด้วยการซื้อแบบ Dollar Cost Averaging หรือ DCA ซึ่งเป็นการออมในหุ้นหรือกองทุนรวมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างวินัยการลงทุนให้ได้ผลตอบแทน ในระยะยาวโครงการ DCA ออมหุ้น ช่วยเพิ่มนักลงทุนรายย่อยที่มีคุณภาพเข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ จาก 27,000 บัญชี ขึ้นมาเป็น 270,000 บัญชี ภายใน 4 ปี ทําให้มีลูกค้านําเงินฝากที่พร้อมมาลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง

อย่างไรก็ตาม ในยุคของจรัมพรก็มีเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญหลายเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ตั้งแต่เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปจนถึงมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่น้ําท่วมกรุงเทพฯ จนโบรกเกอร์ต่างเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหากตลาดหลักทรัพย์ฯ จําเป็นต้องปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ําท่วมกรุงเทพฯ

ณ เวลานั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตัดสินใจยืนหยัดที่จะเปิดดําเนินการต่อ โดยริเริ่ม Site สํารอง ข้ามจังหวัดไปปักหลักอยู่ที่พัทยาชั่วคราว ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น การเตรียมความพร้อมในเรื่องระบบข้อมูลหลังบ้านสามารถทําได้ดีแม้จะไม่เคยมีคู่มือ หรือวางแผนรับมือกับสถานการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน ทําให้สามารถดําเนินการซื้อขายได้อย่างต่อเนื่อง มี ‘Resiliency’ สูง ท่ามกลางเหตุอุทกภัย

“ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเป้าหมาย
ที่จะโตขึ้นสิบเท่า ก็จําเป็นต้องลงทุน
ชื้อเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
เข้ามารองรับ ซึ่งเทคโนโลยีคือปัจจัยสําคัญ
ที่จะผลักดันสู่ความสําเร็จ”

จรัมพรย้ำว่าแผนดําเนินธุรกิจต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ได้ทุกสัปดาห์ เรียกได้ว่าเขียนกันใหม่แล้วก็ปรับทันที ถ้าถอยหลังกลับไปดู วันนั้นต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามาก อย่างน้อยก็มีระบบหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดได้ ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านน้ำมาได้ ถึงแม้ประเทศจะเกิดอุทกภัย หรือวิกฤตการณ์ความไม่สงบทางการเมือง แต่อย่างน้อยในธุรกิจนี้ไม่มีผลกระทบ

สร้างระบบเทรดให้ยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ (Trading System) ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละยุคสมัย จากวิธีการซื้อขายแบบประมูลราคาอย่างเปิดเผย (Open Auction) ด้วยวิธีเคาะกระดานในห้องค้าหลักทรัพย์ (Trading Floor) เปลี่ยนมาใช้ระบบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ภายใต้ระบบ ‘ASSET’ (Automated System for the Stock Exchange of Thailand) ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนอีกครั้งเป็นระบบ ‘ARMS’ (Advance Resilience Matching System) จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาระบบซื้อขายใหม่เรียกว่า ‘SET CONNECT’ เพื่อรองรับปริมาณการซื้อขายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในยุคของจรัมพร

ในห้วงเวลาที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อตลาดทุน ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีอยู่เดิมเริ่มถูกท้าทายด้วยความต้องการที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ไปจนถึงคุณภาพ และสิ่งสําคัญที่ขาดไม่ได้คือโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถต่อยอดไปได้อีกหลายปี ทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจปรับเปลี่ยนระบบเทคโนโลยีครั้งใหญ่แบบพลิกฝ่ามือ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องตามแนวโน้ม Volume Trade ของตลาดที่มากขึ้นตามมา การตัดสินใจเปลี่ยนเทคโนโลยีก็เพื่อทําให้สามารถรองรับสภาพคล่องของตลาดที่สูงขึ้น ตามที่จรัมพรอธิบาย

ตั้งแต่การพัฒนาระบบการซื้อขาย SET CONNECT มาจนถึงการพัฒนา Settrade Streaming for Mobile Devices การพัฒนาระบบ Clearing System รวมถึงริเริ่มโครงการ Green Data Warehouse นับเป็นช่วงเวลาของการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเติบโตในเวทีโลกแทบทั้งสิ้น 

นอกจากความมุ่งมั่นพัฒนาระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากโบรกเกอร์ในการช่วยอัพเกรดระบบเพื่อให้สามารถรองรับได้ จรัมพรบอกว่าการจะทําให้สําเร็จได้นั้นต้องอาศัยการซ้อมใหญ่ร่วมกับโบรกเกอร์ทุกราย ซึ่งมีหลายรอบมาก ช่วงนั้นทุกคนเหนื่อย แต่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

เขายังเล่าต่อว่า ถ้ามองถึงอนาคต ช่วงเวลาที่รับตําแหน่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ นับเป็นยุคที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสําคัญกับความยั่งยืน ตัวนักลงทุนเอง เริ่มให้ความสนใจลงทุนในบริษัทที่มีความตระหนักเรื่องของ Sustainability ค่อนข้างสูง หรืออยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI เป็นหลัก ซึ่งมีบริษัทไทยเพียงไม่กี่บริษัทที่เข้าไปอยู่ใน DJSI ได้สําเร็จ

ณ เวลานั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ให้ว่าจ้างบริษัท RobecoSAM เข้ามาช่วยพัฒนาบริษัทจดทะเบียน ให้ปรับตัวเพื่อเข้าไปอยู่ใน DJSI ทําให้มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI World คือ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ บมจ. ปตท. (PTT) ต่อมาในปี 2556 บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ก็ได้รับคัดเลือกเข้าไปอยู่ในกลุ่ม ดัชนี DJSI World ส่วน บมจ. ไทยออยส์ (TOP) ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets (กลุ่มตลาดเกิดใหม่)

เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

ความสําเร็จจากการเดินหน้าในหลากหลายมิติ ทําให้ Ecosystem แต่ละด้านมีความสมบูรณ์ ทั้งนักลงทุนที่มีคุณภาพมากขึ้น นักลงทุนสถาบันมีจํานวนมากขึ้น บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูงก็เพิ่มขึ้น และระบบโครงสร้างพื้นฐานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สมบูรณ์ตามมา

“สิ่งที่เราลงมือทําในอดีตได้กลายมาเป็นแนวคิดที่ขับเคลื่อนให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางยุค Disruption ที่เข้ามากระทบ ทั้งเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะการลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการดูแลให้มีมาตรฐานเพื่อให้นักลงทุนรู้เท่าทัน ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเตรียมความพร้อมรับมือในก้าวต่อไป”

ในยุคที่มีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน ความสะดวกของการลงทุนที่รวดเร็ว ยิ่งต้องให้ความรู้แก่นักลงทุนมากขึ้น สิ่งสําคัญคือต้องทําให้นักลงทุนเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและการยอมรับความเสี่ยง

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จรัมพร โชติกเสถียร ฝากไว้ด้วยเชื่อมั่นเต็มหัวใจว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังคงเป็นองค์กรที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในยุค Digital Disruption และมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพได้ต่อไปในอนาคต