ยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน สร้างโอกาสให้ธุรกิจทุกขนาด

ตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ Exchange Platform ขนาดใหญ่ ที่สร้างโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาระดมทุน จึงมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน จึงมีบทบาทสําคัญในการร่วมกันทํางานในแต่ละกระบวนการตั้งแต่การให้ข้อมูล การเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุน การคัดสรร ร่วมปลุกปั้นและกํากับดูแลให้บริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลถูกต้องและทันเวลาเพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกันในการนําไปตัดสินใจลงทุน ตลอดจนกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความเรียบร้อย เป็นธรรม และโปร่งใส

“เมื่อพูดถึงเรื่องตลาดและการระดมทุน สิ่งที่จะทําให้ตลาดน่าสนใจมากคืออะไร ก็คือเมื่อสินค้าในตลาดมีคุณภาพที่ดี พอสินค้าดีคนก็อยากจะเข้ามาลงทุน”

บุญพรเล่าถึงการทํางานร่วมกันกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเป็นด่านแรกที่คัดกรองบริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาด

“สิ่งสําคัญอย่างยิ่งคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีประสิทธิภาพ โบรกเกอร์เองก็ต้องมีจรรยาบรรณ มีจริยธรรม นําสินค้าที่ดี ไม่ใช่ไปร่วมมือกับบริษัทที่จะเอามาตีหัวนักลงทุน บริษัทหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องทํางานร่วมกันในฐานะด่านแรกที่ช่วยคัดกรองบริษัทที่จะเข้ามาในตลาด”

“ณ วันนี้ ปริมาณไม่ใช่เรื่องสําคัญอีกต่อไป
สิ่งที่สําคัญกว่าคือเรื่องคุณภาพ
ความน่าสนใจของสินค้า เพื่อสร้างเสน่ห์
ในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก”

ธีรพงศ์ จันศิริ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)

แม้แต่ในมุมมองของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปจํากัด (มหาชน) ก็เห็นด้วยว่าการสร้างความน่าสนใจให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ไทยคือคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน

“สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องคํานึงจากนี้ไปผมคิดว่าเป็นเรื่อง คุณภาพของบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน ณ วันนี้ผมคิดว่า ปริมาณไม่ใช่เรื่องที่สําคัญอีกต่อไป เพราะเรามีจํานวนบริษัทค่อนข้างมากสิ่งที่สําคัญกว่านั้น คือเรื่องคุณภาพ ความน่าสนใจ ของสินค้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นําเสนอต่อนักลงทุน จะเป็นโจทย์สําคัญว่าเราจะสร้างเสน่ห์ในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกได้อย่างไร และต้องคอยตรวจสอบกฎระเบียบต่าง ๆ ว่ามีกฎระเบียบอะไรที่ไม่ได้เอื้ออํานวยต่อการทํางานของบริษัทจดทะเบียน หรือไม่ได้เอื้ออำนวยให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้ง่าย จึงต้องมีการปรับปรุงตลอดเวลาเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคหรือในระดับโลก”

หลังจากกระบวนการคัดสรรบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน บทบาทต่อมาของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการกำกับดูแลและพัฒนาบริษัทจดทะเบียนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดําเนินงาน พร้อมทั้งยกระดับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อดูแลนักลงทุนให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

นอกจากนี้ อีกบทบาทสําคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการบ่มเพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพแต่ผลประกอบการและกําไรอาจยังไม่ผ่านเกณฑ์สําหรับจดทะเบียนใน mai และ SET เพื่อให้สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างโอกาสในการระดมทุนและต่อยอดธุรกิจเพื่อเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้

ปัจจุบันการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รองรับทุกขนาดธุรกิจตั้งแต่เล็ก กลาง และใหญ่ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการเพิ่มแพลตฟอร์มการระดมทุนที่เปิดกว้างมากขึ้นสําหรับ SMEs หรือ Startups ที่กําลังเติบโตและอยู่ในช่วงขยายกิจการ เพื่อเข้าสู่ LiVE Exchange แหล่งระดมทุนใหม่ล่าสุดที่มีกฎเกณฑ์ผ่อนคลายกว่า mai และ SET ทําให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

“การอัปเกรดมาตรฐานของบริษัทก็เป็น
Step Up อย่างหนึ่ง บางทีเหมือนบันไดมันสูง
ถ้าอยู่ ๆ จาก SMEs ตัวเล็ก ๆ กระโดดขึ้นไป
เข้าตลาด mai ก็ต้องใช้ทุนและใช้พละกําลัง
อะไรอีกมากมาย แต่การมี LiVE Exchange
เปรียบเสมือนการมีบันไดย่อย ๆ มาช่วย”

วิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน)

วิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ให้มุมมองในฐานะผู้ประกอบการรายแรกที่ก้าวสู่ LiVE Exchange โดยมีมูลค่าการระดมทุนสูงถึง 80 ล้านบาท จุดเริ่มต้นของวิโรจน์มาจากการเข้าคอร์ส Innovation Driven Enterprise (IDE to IPO) จากคอร์สแรกสู่คอร์สต่อมาและสู่การเข้าร่วมอีกหลายโครงการ ทําให้วิโรจน์มองเห็นช่องทางของการเข้าสู่ตลาดทุนอย่างเป็นรูปเป็นร่าง โครงการ LiVE Acceleration Program ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ติดปีกให้เขาเห็นช่องทางในการขยับขยายธุรกิจ SMEs ผ่านการระดมทุนในตลาดทุน

“ผมรู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากที่จะช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เพราะส่วนมากเป็นบริษัทที่มีทรัพยากร ทั้งพนักงานและทุนในการดําเนินธุรกิจไม่สูงมาก สวนทางกับค่าใช้จ่ายและค่าที่ปรึกษา ที่จะเกิดขึ้นในการเตรียมตัวเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ค่อนข้างสูง แต่การเข้าร่วมกับโครงการนี้ มีปรมาจารย์ทั้งเหล่า IA (ผู้ตรวจสอบภายใน) FA (ที่ปรึกษาทางการเงิน) Auditor (ผู้สอบบัญชี) ระดับประเทศมาช่วยให้คําปรึกษาเป็นพี่เลี้ยงทําให้เราเห็นภาพชัดเจนและเข้าใจมากยิ่งขึ้น”

โครงการ Innovation Driven Enterprise (IDE to IPO) ตลาดหลักทรัพย์ mai ร่วมกับสถาบันวิทยาการนวัตกรรม จัดหลักสูตรโครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมสําหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับความสามารถขององค์กรนวัตกรรม สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้จริงและก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

LiVE Acceleration Program
เป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เร่งความพร้อมก้าวสู่การระดมทุนในตลาดทุนด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อวางแผนปรับปรุงและพัฒนาระบบงานสําคัญ ที่ส่งผลต่อความสําเร็จในการดําเนินธุรกิจ เช่น ระบบบริหารการจัดการด้านบัญชีและการเงิน ระบบควบคุมภายใน ทรัพยากรบุคคล การบริหารความเสี่ยง พร้อมที่ปรึกษามืออาชีพ ให้คําแนะนำอย่างใกล้ชิด

วิโรจน์มองว่าเส้นทางของธุรกิจ SMEs และ Startups อาจมี Investor ที่เป็นกองทุน กองทุนต่างชาติ หรือ CVC (Corporate Venture Capital) เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งจะมีข้อกำหนด ไม่เหมือนกันในการลงทุน บางเงื่อนไขถ้าผลลัพธ์ไม่ดี ไม่ถึงเป้า ก็อาจต้องคืนเงิน บางแห่งก็ Tough บางแห่งก็ Flexible มาตรฐานไม่เหมือนกัน แต่เมื่อผ่านกลไกตลาดทุนก็จะเป็นการสร้างมาตรฐานกลางให้แก่ SMEs และ Startups ต่อให้ผู้ประกอบการไม่มีความรู้เพื่อต่อรองเรื่องข้อกำหนด การมีมาตรฐานกลางของตลาดช่วยให้ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ ฝั่งนักลงทุนก็ไม่เสียเปรียบ บริษัทก็ไม่เสียเปรียบ

เป้าหมายต่อไปของบริษัทแอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จํากัด(มหาชน) คือการเติบโตเข้าสู่ mai ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น สิ่งที่บริษัทกําลังเตรียมความพร้อมก็คือการวางโครงสร้าง องค์กร ผลประกอบการ และมาตรฐานต่าง ๆ ให้เข้าเกณฑ์ mai

“การอัปเกรดมาตรฐานของบริษัทก็เป็น Step Up อย่างหนึ่ง บางทีเหมือนบันไดมันสูง ถ้าอยู่ ๆ จาก SMEs ตัวเล็ก ๆ กระโดดขึ้นไปเข้าตลาด mai ก็ต้องใช้ทุนและใช้พละกําลังอะไรมากมาย แต่การมี LiVE Exchange เปรียบเสมือนการมีบันไดย่อย ๆ มาช่วยสนับสนุนผลักดันให้ SMEs สามารถก้าวกระโดดเป็นสปริงบอร์ดเพื่ออัปเกรดมาตรฐานของบริษัทขึ้นไปสู่ mai ได้ง่ายขึ้น”

นอกจาก LiVE Exchange ที่รองรับการเติบโตของ Startups แล้ว ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มการเติบโตได้ดีในอนาคตก็สามารถใช้ตลาดทุนในการขยายกิจการและสร้างโอกาสของธุรกิจผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ร้านอาหารที่โด่งดังมากในรอบสิบปีที่ผ่านมาอย่าง ‘After You’ ที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2559

แม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า การตัดสินใจเข้า mai นั้นมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการขยายกิจการ ซึ่งนอกเหนือไปจากการระดมทุน และการสร้างการยอมรับในวงกว้างแล้ว ข้อดีของการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai คือการให้คําแนะนํา สนับสนุน และประคับประคองผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งจากฝั่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และฝั่งผู้กํากับดูแลอย่าง ก.ล.ต. ทําให้ผลที่ตามมาคือได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน

หากมองในแง่ธุรกิจอาหาร แม่ทัพเห็นว่าธุรกิจอาหารของไทยไม่เป็นรองจากชาติใดในโลกทั้งในแง่คุณภาพ ความหลากหลาย และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเสริมว่า สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารไทย และอุตสาหกรรมอื่นๆ คือการสนับสนุนด้าน Networking ระหว่างบริษัท นักลงทุน หรือ Supplier ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และเสริมศักยภาพในการทําธุรกิจของอุตสาหกรรมไทยได้อย่างยั่งยืน

นอกจากธุรกิจอาหาร ยังมีอีกธุรกิจที่นักลงทุนต่างพากันแปลกใจเมื่อเห็นว่ามีชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่นคือธุรกิจร้านนวดและสปา

“ประโยชน์สูงสุดของการเป็นบริษัทจดทะเบียน
คือการได้รับความยอมรับจากลูกค้า นักลงทุน
และสถาบันต่าง ๆ ในเรื่องของ
ระบบการจัดการธุรกิจ ความโปร่งใส
และความชัดเจนของแผนงาน
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสด้านการระดมทุน
และการเข้าถึงคู่ค้า ทีมงาน รวมถึงโอกาสดี ๆ
ในธุรกิจในระดับสากล”

แม่ทัพ ต.สุวรรณ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จํากัด (มหาชน)

วิบูลย์ อุตสาหจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเวลเนส กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ Let’s Relax Spa ในฐานะธุรกิจที่เติบโตจากจุดเล็ก ๆ เล่าย้อนถึงตอนที่ตัดสินใจจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2557 ปักหมุดหมายเป็นธุรกิจสปาเจ้าแรกในตลาดหลักทรัพย์ไทยว่า “ในวันแรก ที่เราเข้าตลาดฯ คนก็ตั้งคําถามกันเยอะว่า สปาอะไรเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ด้วย ตอนนั้น Mindset ของคนส่วนใหญ่ยังติดภาพว่าสปาต้องเป็นห้องแถว หรือไม่ก็เป็นธุรกิจเทา ๆ ทําไมสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้

“การเข้าตลาด mai ทําให้บริษัทได้มีโอกาส
พบปะและแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางธุรกิจ
ผ่าน mai Networking กับบริษัทจดทะเบียน
ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่า
การร่วมธุรกิจกับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ”

วิบูลย์ อุตสาหจิต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเวลเนส กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)

“จริง ๆ ช่วงนั้นแบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศแล้ว แต่ว่าคนไทยจะไม่ค่อยรู้จัก ปรากฏว่าหลังจากที่เราได้ให้ข้อมูลต่าง ๆ ไป ก็เป็นโอกาสดีที่ว่า เราได้ประชาสัมพันธ์แบรนด์ของเราให้คนไทยได้รับทราบด้วย

“พอได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มันคนละโลกเลย จากวันแรกที่คนถามกันว่า สปาอะไรเข้าตลาดได้ ตอนหลังเมื่อกิจการเริ่มโต คนเรียกเราว่า ‘สปาหมื่นล้าน’ เพราะว่า Market Cap เราโตขึ้นมาถึงหมื่นล้าน จากที่เราเป็นธุรกิจ SMEs ไม่มีคนรู้จัก เวลาไปขอเช่าพื้นที่เปิดสาขาใหม่ Landlord จะกลัวนิดนึง เพราะเราเป็นธุรกิจสปา บริการนวดเพื่อสุขภาพ บางคนก็ไม่แน่ใจว่า นวดอะไรกันแน่ แต่หลังจากที่เราเข้า mai แล้ว เขาก็รู้ว่าบริษัทเราค่อนข้างโปร่งใส เชื่อถือได้ มีชื่อเสียงมากขึ้น การติดต่อเช่าพื้นที่ก็ง่ายมากขึ้น

“อีกเรื่องที่เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือการเข้มงวดในการวางแผนการดําเนินธุรกิจ การคํานึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ตลอดจนการทําตามกฎข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ”

นอกจากนี้ วิบูลย์ยังมองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ทําให้บริษัทได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางธุรกิจผ่าน mai Networking กับบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมในตลาดเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการทําธุรกิจกับบริษัทจดทะเบียนที่มีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าที่จะไปร่วมธุรกิจกับบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ

วิบูลย์เล่าต่อว่า หลังจากที่เข้า mai แล้ว สิ่งที่เขาให้ความสําคัญเป็นลําดับต้น ๆ คือการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับ Stakeholder อย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ความพยายามทั้งหมดที่ว่ามา การันตีด้วยการคว้ารางวัลด้าน Investor Relations สองปีซ้อน คือรางวัล Best Investor Relations Awards for Listed Company in mail SET Awards 2018 และรางวัล Outstanding Investor Relations Awards for Listed Company in mai lun SET Awards 2019

เช่นเดียวกับ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ย้อนเล่าให้ฟังถึงโอกาสที่ได้รับหลังได้เข้าจดทะเบียนใน mai ว่า

“จุดมุ่งหมายของการเข้าจดทะเบียนของเราคือเรื่องของการเติบโต นําเงินทุนมาขยายธุรกิจ เพราะเวลาธุรกิจขยายตัวจําเป็นต้องมีเงินทุนหมุนเวียนหรือ Working Capital อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนําเงินมาลงทุนในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น สิ่งที่มองเห็นได้ชัดง่าย ๆ คือออฟฟิศ รวมถึง Assets ที่มองไม่เห็น เช่น Research (R&D) ในฐานะที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาต้องมีการลงทุนค้นคว้าในสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเงินที่ลงทุนไปจะไม่ได้กลับคืนมาทันที อาจจะต้องใช้เวลา 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปี แต่เป็นการสร้าง

“การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอน
ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น
ในการทํางานในสเกลที่ใหญ่”

พชร อารยะการกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)

ความได้เปรียบในการแข่งขัน ถัดมาคือเรื่องชื่อเสียง เรื่องการเป็นที่รู้จัก ก็เป็นสิ่งที่ได้มาจากการเข้าระดมทุน รวมถึงความน่าเชื่อถือที่จะตามมาด้วย เพราะชื่อเสียงสร้างได้ แต่การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยเรื่องความน่าเชื่อถือได้จริงๆ เพราะว่าบริษัทต้องมีการปรับเรื่องของระบบควบคุมต่าง ๆ ให้มีมาตรฐาน ผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอน ทั้งของคณะกรรมการบริษัท ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้ตรวจสอบภายนอก และอยู่ภายใต้การทํากับดูแลของ ก.ล.ต. เพราะฉะนั้นเราผ่านกระบวนการเหล่านั้นมาแล้ว ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้นในการทํางานในสเกลที่ใหญ่ อีกเรื่องหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องของการสร้างความเป็นเจ้าของให้แก่พนักงานที่เป็น Talents การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําให้มีเครื่องมือทางการเงิน มีหุ้นที่สามารถจ่ายเป็นผลตอบแทนให้พนักงานเพื่อให้เขาเติบโตไปพร้อมกับเราด้วยการร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้”

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะช่วยสร้างโอกาสในการขยายกิจการของธุรกิจแล้ว ยังช่วยทําให้ธุรกิจครอบครัวพัฒนามาตรฐานภายในบริษัทเพื่อพร้อมเติบโตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป บริษัท ทีพีบีไอ จํากัด (มหาชน) คือหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว

“การมีกรรมการอิสระในคณะกรรมการ
ของบริษัท ทําให้กรรมการที่มาจากครอบครัว
ได้เรียนรู้และปรับตัวสู่ระดับสากลมากขึ้น”

ชมัยพร เอื้อไพโรจน์กิจ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จํากัด (มหาชน)

โดยมี ชมัยพร เอื้อไพโรจน์กิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเรือใหญ่มืออาชีพ โดยชมัยพรให้มุมมองว่า การเป็นบริษัทจดทะเบียนทําให้ TPBI มีระบบงานที่ได้มาตรฐาน

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎกติกา รูปแบบรายงาน Guidance ต่าง ๆ ทําให้ TPBI บริหารจัดการได้เป็นระดับสากลมากขึ้น บริษัทที่เติบโตจาก Family-based Entrepreneur ถ้าจะอยู่ใน SET ก็ช่วย Shape ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็มีการจัดการข้อมูล การรวบรวมข้อมูล การเขียน Report การกําหนดและประเมินความเสี่ยง ที่สําคัญต้องมีกรรมการอิสระเพิ่มเข้ามาจะเป็น 1 ใน 3 ขั้นต่ํา หรือจะเป็น 50% ก็ยิ่งดีใหญ่ ซึ่งกรรมการอิสระเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ทํางานถึงแม้จะไม่ตรงกับอุตสาหกรรมแต่การมีกรรมการอิสระในคณะกรรมการของบริษัททําให้กรรมการที่มาจากครอบครัวได้เรียนรู้และปรับตัวสู่ระดับสากลมากขึ้น”

ในด้านประโยชน์ของการเข้าจดทะเบียนใน SET ธีรพงศ์ จันศิริ ย้ําว่า ตลอด 29 ปีที่ผ่านมาของบริษัทว่าได้ยกระดับการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐาน สิ่งที่ตามมาคือความน่าเชื่อถือของบริษัท

“TU ได้เข้ามาจดทะเบียนใน SET ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งก็เป็น เวลา 30 ปีมาแล้ว ในช่วงยุคเริ่มต้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะนั้นมีจํานวนบริษัทไม่ค่อยมากเท่าไหร่ ผมคิดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมทุนที่ให้โอกาสกับบริษัทต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ มีโอกาสในการขยายธุรกิจเข้ามาใช้กลไกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการระดมทุน สําหรับบริษัทเราได้ประโยชน์ในการพัฒนาและการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นการยกระดับของฝ่ายจัดการ เนี่องจากว่าเมื่อระดมทุนแล้ว จำเป็นต้องมีการรายงานผลประกอบการให้แก่นักลงทุน ผู้ถือหุ้น อย่างสม่ําเสมอ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และผลที่ได้รับคือความน่าเชื่อถือจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกองทุน ผู้ถือหุ้น รวมถึงคู่ค้า”

นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนที่มีความแข็งแกร่งและเติบโตแล้วก็สามารถใช้กลไกตลาดทุนในการระดมทุนเพิ่มหลากหลายรูปแบบ

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนดินไทย จํากัด (มหาชน) ปี 2559-2566 (ชื่อย่อหุ้นของบริษัทฯ ในตลาด หลักทรัพย์ฯ คือ SCC) ได้เล่าว่า SCG นำบริษัทย่อยหรือบริษัทลูก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Spin-off) ซึ่งเป็นโอกาสหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากกลไกตลาดทุน

“SCG จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเกือบ ๆ 50 ปี อายุใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็นับว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ที่เข้ามาจดทะเบียน ถึงแม้ SCG ไม่ได้เรียกระดมเงินทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ถึงแม้ SCG ไม่ได้เรียกระดมเงินทุน
ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่มั่นใจว่า
ถ้าจําเป็นต้องใช้เงินทุนในการขยายกิจการ
เรามีช่องทางนี้อยู่ในระยะยาว”

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG ปี 2559-2566

แต่เราใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับนักลงทุน สถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นนักลงทุนสถาบันให้มีความเข้าใจกลยุทธ์ของบริษัทมากขึ้น ซึ่งไม่จําเป็นต้องมีการเพิ่มทุนเสมอไป แต่ทําให้มีความมั่นใจว่าถ้าจําเป็นต้องใช้เงินทุนในการขยายกิจการ บริษัทมีช่องทางนี้อยู่ในระยะยาว บริษัทอาจไม่ได้เรียกระดมทุนโดยตรง แต่เรามีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่เป็นผลพวงจากการทํางานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การออกหุ้นกู้ เป็นต้น การที่นักลงทุนหรือประชาชนเข้ามาซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเพราะความมั่นใจจากการที่ SCG อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มั่นใจว่า SCG มี Good Governance ในช่วงหลังเราทํางานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง การนําบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จํากัด (มหาชน) หรือ SCGP เข้าไปจดทะเบียนเพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) ในปี 2563 ก็ได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอย่างดี รวมทั้งในช่วงที่เตรียมนําบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCGC เข้าจดทะเบียนเพื่อ IPO ก็ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เผอิญเจอวิกฤตในแง่ของปิโตรเคมีก่อน และล่าสุดคือการ IPO บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCGD ผมคิดว่า SCG ก็ใช้ตรงนี้เป็นแหล่งในการระดมทุนและเป็นช่องทางในการสื่อสารความสามารถและศักยภาพของบริษัท ตลอดจนวิธีการบริหารจัดการบริษัทกับกลุ่มนักลงทุนหรือสาธารณชน”