ลดขยะ สร้างความยั่งยืน หนุนองค์กร และชุมชนโตไปพร้อมกัน

การจัดการขยะ คือปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศต้องเผชิญจากการขยายตัวของเมือง และการเติบโตของจํานวนประชากรทําให้ขยะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ 

สําหรับประเทศไทย ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ขยะมูลฝอยของปี 2565 มีปริมาณ 25.70 ล้านตัน และพบว่า ขยะมูลฝอยที่ถูกกําจัดไปอย่างไม่ถูกต้องรวมถึงขยะมูลฝอยตกค้างมีปริมาณรวมกันถึง 17.01 ล้านตัน

ปัญหาเรื่องขยะคือปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงและสัมพันธ์กับหนึ่งในเสาหลักของ ESG คือตัว E-Environmental ที่ครอบคลุมทุกมิติด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากการส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียดูแลเรื่อง ESG แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังขับเคลื่อนนโยบายช่วยสังคม ลดผลกระทบอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรด้วย ตั้งต้นจากการกําหนดนโยบายลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นําไปสู่การร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีหลายโครงการนําร่องที่น่าสนใจ

‘วัดจากแดง’ คือวัดต้นแบบของแนวคิด ‘ขยะทุกชิ้นใช้ประโยชน์ได้’ ที่สามารถสร้างเครือข่ายไปได้ทั่วประเทศ

‘เดอะ สตรีท รัชดา’ ศูนย์การค้าที่กลายเป็นตัวกลางในการรับขยะจากชุมชนและส่งต่อไปสู่กระบวนการรียูส รีไซเคิล รวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายกับอีกหลายองค์กรในละแวกใกล้เคียง

1 วัด 1 องค์กร คือตัวอย่างสําหรับแนวคิดและแนวทางในการจัดการปัญหาขยะเพื่อสร้างความยั่งยืน และต่อไปนี้คือเรื่องราวของพวกเขา

“ความสําเร็จเกิดขึ้นได้จากความพากเพียร
การใคร่ครวญ การเอาใจใส่ และการทดลอง
ลงมือทําให้เห็น ชักชวนให้ลงมือทำ
และพิสูจน์ให้ดูว่าทําสําเร็จได้”

พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร)
เจ้าอาวาสวัดจากแดง

พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร) เจ้าอาวาส วัดจากแดง เล่าว่า วัตรปฏิบัติของพระที่เกี่ยวกับเสนาสนะ เช่น การดูแลความสะอาดภายในวัด เป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้เจ้าอาวาสมองเห็นปัญหาของขยะเศษใบไม้และเศษอาหารที่เกิดขึ้นภายในวัด และหาทางจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

จากขยะที่สร้างปัญหา เปลี่ยนมาเป็นทางออก โดยเริ่มจากการนําเศษใบไม้มาทําปุ๋ยหมัก และจัดการกับขยะเศษอาหาร โดยใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยกําจัด จากนั้นก็เริ่มพัฒนาการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้น และขยายไปยังชุมชนรอบวัดโดยใช้การคัดแยกขยะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการถ่ายทอดธรรมะเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

แม้ในช่วงเริ่มต้นจะมีคนเห็นต่าง และอยากให้วัดยกเลิกความตั้งใจ เพราะมองว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องยาก และไม่มีทางสําเร็จ ด้วยแรงต้านจากคนในชุมชน ซึ่งหลายหน่วยงานต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี มีทั้งอํานาจหน้าที่และงบประมาณก็ยังทําได้ไม่สําเร็จ แต่เจ้าอาวาสกลับตัดสินใจลงมือทําด้วยความตั้งใจ

วัดจากแดงเริ่มต้นจาก “โครงการขุดทองจากกองขยะ” แม้ในช่วงเวลานั้นหลายคนยังไม่เข้าใจถึงความจําเป็นในการคัดแยกขยะมากนัก แต่หลังจากที่วัดเริ่มบิณฑบาตขยะพลาสติกแลกกับของกินของใช้เพื่อเอาพลาสติกที่ได้ไปทําน้ํามัน ตั้งแต่ปี 2548 คนในชุมชนใกล้เคียงก็เริ่มให้ความสนใจ และหันมาคัดแยกขยะกันมากขึ้น

โครงการนี้ได้แรงสนับสนุนจากเครือสหพัฒน์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นแรงสําคัญที่ช่วยให้การรณรงค์แยกขยะในชุมชนเดินหน้าไปได้ และทําให้วัดจากแดงกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการคัดแยกให้กับผู้คนในชุมชนรวมทั้งผู้สนใจทั่วไป รวมถึงการออกไปบรรยายธรรมะนอกสถานที่ทั้งมหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน รวมถึงธนาคารที่ต่างให้ความสําคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เจ้าอาวาสเล่าว่า ความจริงจังในการจัดการขยะของวัดทําให้หลายหน่วยงานเริ่มมองเห็นและพร้อมให้การสนับสนุนทั้งเครื่องจักร งบประมาณ รวมถึงจัดหาขยะที่เหมาะสมกับการรีไซเคิลมาให้กับวัด โดยที่วัดไม่ได้มองว่าขยะเป็นปัญหาอีกต่อไป

“ความสําเร็จเกิดขึ้นได้จากความพากเพียร การใคร่ครวญ การเอาใจใส่ และการทดลองลงมือทําให้เห็น ชักชวนให้ลงมือทํา และพิสูจน์ให้ดูว่าทําสําเร็จได้”

ความจริงแล้วขยะทุกชนิดจัดการได้หมด กล่องอาหารทําเป็นไม้เทียม เปลี่ยนขวดพลาสติก PET ให้กลายเป็นจีวรรีไซเคิล ที่ให้คนในชุมชนตัดเย็บสร้างรายได้ หรือแม้แต่ซองขนมก็นํากลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการของเสีย

“หัวใจสําคัญคือต้องเริ่มต้นจากการสํารวจแนวทางแก้ไขปัญหา เรียนรู้แล้วก็ลงมือทำ เราก็จะเห็นปัญหา และเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหา เห็นทางออก อย่าใจร้อน ทําอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นก็ประสบความสําเร็จ”

หลายโครงการที่วัดจากแดงทําร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่การบรรยายธรรมะให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือแม้แต่การทําคลิปวิดีโอสั้น ที่มีส่วนช่วยเผยแพร่หลักคิดของการคัดแยกขยะออกไปได้ไกล มีคนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น สิ่งสําคัญคือ การได้ถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่ทำออกไปช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นได้จริง ทําให้มีบริษัทจดทะเบียนหลากหลายบริษัทเข้ามาให้การสนับสนุน ได้ส่งต่อแนวคิดให้กว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงวัดต่าง ๆ ที่สนใจดําเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านบุญและการกุศล

วัดจากแดง ณ วันนี้ ได้เป็นแรงบันดาลใจให้หลายบริษัทกล้าลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลด้วยงบประมาณมหาศาล ท่ามกลางบรรยากาศที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก เมื่อก่อนคนอาจคิดว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ทว่าตอนนี้ทุกคนเริ่มตระหนักและเห็นผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น

“เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคํา ทําทีละอย่าง แต่ขอให้เดินสักสี่ก้าว ก้าวแรก ฉันทะ ก้าวไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น ก้าวที่สอง วิริยะ ทําต่อเนื่อง ก้าวที่สาม จิตตะ เอาใจใส่ในสิ่งที่ทํา ก้าวที่สี่ วิมังสา ใช้ปัญญาทดสอบทดลอง แล้วก็จะประสบความสําเร็จ” เจ้าอาวาสกล่าวและทิ้งท้ายว่า ปัจจัยแห่งความสําเร็จ ต้องเริ่มจากมองให้เห็นปัญหา ยอมรับว่าเป็นปัญหา เอาปัญหามาสร้างปัญญา ทําเป็นโจทย์เพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และหาทางออกของปัญหานั้น

เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน แนวคิดนี้ถูกพิสูจน์แล้วจากความสําเร็จของวัดจากแดง ต้นแบบชุมชนลดขยะที่ได้สร้างเครือข่ายขยายไปทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นจากวัด ชุมชน สังคม ไปจนถึงองค์กรที่เป็นกําลังสําคัญในการมีส่วนร่วม

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำองค์ความรู้
มาจุดประกายชุมชนรอบข้าง ทําให้ศูนย์การค้า
จัดการขยะได้เป็นระบบมากขึ้น
และยังได้รับความช่วยเหลืออย่างดี
จากพันธมิตรในโครงการ”

พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล
กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา

พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวกับการดําเนินธุรกิจมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะหากมองในระยะยาวแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกเผชิญอยู่ล้วนส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“ถ้าคุณไปก่อให้เกิดปัญหาสังคมเรื่อย ๆ ธุรกิจคุณไม่สามารถยั่งยืนได้หรอก สมมติมีคนถ่ายรูปเดอะ สตรีท รัชดาเอาน้ำเน่าไปเทลงในบ่อ เราจะเสียหายหนัก แต่ถ้าคุณเริ่มทําเรื่องจัดการขยะสร้างแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน สุดท้ายคุณจะได้มากกว่า เสีย” พงษ์ศักดิ์เล่าถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ ‘ขยะล่องหน’ หรือ ‘Care the Whale’ โดยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

“การทําโครงการขยะ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมเชื่อว่ามันเห็นชัดจริง ๆ ถามว่ามีต้นทุนไหม มี แต่ไม่ได้เยอะ แต่ถ้าคุณไม่ทํา อีกหน่อยต้นทุนจะเยอะกว่านี้อีก คุณอาจจะสูญเสียธุรกิจ สูญเสียส่วนแบ่งตลาด หรือกระทั่งลูกค้า”

ศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา เริ่มทําเรื่องจัดการขยะด้วยตัวเองมาก่อนแล้ว เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่สําหรับกรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อเข้าร่วมโครงการ Care the Whale ในปี 2562 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ร่วมมือกับ 14 ผู้ประกอบการบนถนนรัชดาภิเษก เดอะ สตรีท รัชดา จึงมีการจัดการขยะที่ครบวงจรมากขึ้น เริ่มจากให้เครดิตกับร้านค้าในเดอะ สตรีท รัชดา ที่นําขยะรีไซเคิลมาแลก โดยเครดิตนั้นสามารถใช้แทนเงินสดในการจ่ายค่าน้ําค่าไฟได้ เพื่อจูงใจให้ร้านค้าแยกขยะ

ขยะรีไซเคิลทั้งหมดนั้น เดอะ สตรีท รัชดา ได้ร่วมมือกับหลายบริษัทในการนําไปรีไซเคิล เช่น ขยะจําพวกกระดาษก็ร่วมมือกับ SCG หรือขวด PET ก็ร่วมมือกับ Indorama Ventures หรือขวดแก้วก็ส่งให้ Thai Beverage นําไปรีไซเคิลทําขวดแก้วใหม่

นอกจากนี้ เดอะ สตรีท รัชดา ยังเปิดรับบริจาคขยะรียูส หรือขยะที่ยังสามารถใช้ได้ เช่น เสื้อผ้า หนังสือ ของเล่น โต๊ะ เก้าอี้ และร่วมมือกับมูลนิธินกขมิ้น เป็นคนกลางในการส่งของต่อให้กับคนที่ต้องการ

มากกว่านั้นยังมี “โครงการขยะกําพร้า” ร่วมมือกับ N15 Technology รับขยะที่ไม่สามารถนํามารีไซเคิลได้ แต่สามารถเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อนําไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน เช่น ซองบะหมี่ ห่อผงซักฟอก กระสอบใส่ข้าวสาร ลูกบอลเก่า ยางรถยนต์ ชุดตรวจ ATK ฯลฯ รวมทั้งมีโครงการเปลี่ยนอาหารกินเหลือให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย

“ต้องขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นคนจุดประกายเรื่องนี้ ทําให้เราสามารถที่จะต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ ได้เจอพันธมิตรหลายองค์กร เพราะเราอยู่บนถนนเดียวกัน”

ความสําเร็จนี้ไม่ได้อยู่เพียงศูนย์การค้า เดอะ สตรีท รัชดา แต่ชาวชุมชนโดยรอบก็ให้ความร่วมมือส่งมอบขยะประเภทต่าง ๆ ให้เดอะ สตรีท รัชดา ซึ่งเป็นเสมือนตัวกลางสําหรับกระบวนการรียูส รีไซเคิลขยะเหล่านี้ให้เป็นของที่ใช้ประโยชน์ได้ต่อไป และในอนาคต เดอะ สตรีท รัชดา ยังมีแผนจะรับซื้อขยะรีไซเคิลจากชาวชุมชน โดยให้เป็น “เดอะ สตรีท พอยท์” ที่สามารถใช้แทนเงินสดได้อีกด้วย

“จากเดิมที่แทบจะไม่มีการแยกขยะ ตอนนี้เราแยกขยะได้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ มีคนให้ความร่วมมือเยอะขึ้นมาก และเชื่อว่า ขยะที่ออกไปก็จะน้อยลงเช่นกัน ผมเชื่อว่าที่เราอยู่ได้ ก็เพราะชุมชนอยู่ได้ และชุมชนก็ไม่เคยร้องเรียนเราเพราะเขาแฮปปี้กับเรา”