สร้างบุคลากรมืออาชีพ เพิ่มขีดความสามารถตลาดทุนไทย
นอกจากการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ให้แก่นักลงทุนแล้ว งานอีกด้านที่มีความท้าทายไม่แพ้กัน คือการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ให้แก่บุคลากรในระบบนิเวศตลาดทุนให้มีความรู้และทักษะที่จําเป็นในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน โดยจัดให้มีหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อสร้างมืออาชีพในหลากหลายด้าน ทั้งผู้แนะนําการลงทุน (IC) ผู้วางแผนการลงทุน (IP) นักวิเคราะห์การลงทุน (IA) ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และสายงานอื่น ๆ ตามความต้องการของอุตสาหกรรม และความท้าทายของตลาดทุนที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย
ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนฉายให้เห็นมุมมองการพัฒนาบุคลากรว่าเป็นภารกิจสําคัญที่ต้องทําอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและเพียงพอกับการเติบโตของตลาดทุนไทย
ชวินดากล่าวถึงภาพรวมภารกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า
“คุณูปการมากมายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําให้เรา อย่างเช่น การให้เงินทุนเพื่อนําไปพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรม ทําให้เรามีคนทํางานที่มีศักยภาพทัดเทียมตลาดโลก รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้น”
บุญพรให้มุมมองว่า “หน้าที่สําคัญอย่างหนึ่งของโบรกเกอร์ คือเราต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ที่จะมานําเสนอให้แก่นักลงทุน ดังนั้น การมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จึงต้องมาพร้อมกับความรู้ คนที่ขายของหรือผู้ที่จะให้คําปรึกษากับนักลงทุนต้องรู้จักผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าทําอย่างไรให้บุคลากรของเรามีความรู้ความเข้าใจและใช้เครื่องมือผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุก ๆ อย่างให้เป็น”
เช่นเดียวกับสมภพ มองภาพรวมว่าบุคลากรของตลาดทุนไทยยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโดยเฉพาะที่ปรึกษาทางการเงินยังมีน้อย การพัฒนาจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
“สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทํามาอย่างต่อเนื่องที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องการให้ความรู้เพื่อสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่เพราะว่านักลงทุนรุ่นเดิมก็จะค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นเรื่องการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ทํามาโดยตลอดและยังทําอยู่ ล่าสุดชมรมวาณิชธนกิจก็ขอทุน CMDF เพื่อจัดโครงการ Capital Market Case Competition หรือ CMCC เชิญชวนนักศึกษาเข้ามาแข่งขัน Case ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ก็เป็นการให้ความรู้และทําให้เด็กรุ่นใหม่มีความตื่นตัวที่อยากจะเข้ามาทํางานในแวดวงตลาดทุน เพราะวันนี้ต้องบอกว่าเราขาดบุคลากรด้านนี้ งานเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่บุคลากรไม่เพิ่มตาม ก็เป็นความท้าทายที่ชมรมวาณิชธนกิจเล็งเห็นและอยากสร้างความรู้ ประสบการณ์ และสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากมาทํางานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ FA
ขณะที่อีกหนึ่งตัวละครสําคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างองค์ความรู้และเพิ่มมุมมองที่น่าสนใจให้แก่นักลงทุนคือ ‘นักวิเคราะห์’
ในฐานะที่โลดแล่นอยู่ในตลาดทุนมานานกว่า 3 ทศวรรษ ไพบูลย์มองว่าปัญหาท้าทายของตลาดทุนไทยในปัจจุบัน คือ สัดส่วนของนักวิเคราะห์การลงทุนมีจํานวนที่น้อยเกินไปไม่สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดทุน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนจึงต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดนักวิเคราะห์หน้าใหม่
“ถ้าเราไปดูจํานวนของนักวิเคราะห์ จากข้อมูลจะพบว่าไม่เพิ่มขึ้นมากไปกว่าเดิมหรืออาจพูดได้ว่าลดลงด้วยซ้ำถือว่าค่อนข้างสวนทางกับการเติบโตของตลาดทุน ท่ามกลางจํานวนบริษัทที่เข้ามาระดมทุนกว่า 800 แห่ง แต่จํานวนของนักวิเคราะห์ที่มี น่าจะวิเคราะห์ได้ราว ๆ 300 บริษัทเท่านั้น โจทย์ใหญ่ก็คือทําอย่างไรจะทําให้มีบทวิเคราะห์หุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะที่มีทั้งนํามาปฏิบัติจริงแล้ว เช่น การให้ทุนบริษัทหลักทรัพย์ในการวิเคราะห์หุ้นตัวเล็ก ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อทําให้มีข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ไปสู่สาธารณชน โดยเราได้รับเงินทุนจากกองทุนพัฒนาตลาดทุน CMDF มาดําเนินการ”
ความรู้ความสามารถของนักวิเคราะห์ก็เป็นอีกเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันส่งเสริม โดยที่ผ่านมาสมาคมฯ พยายามจัดโครงการอบรมต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มความรู้ให้นักวิเคราะห์สามารถรับมือโจทย์ในอุตสาหกรรม เช่น การวิเคราะห์ด้าน ESG, Startups, ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย
“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีธุรกิจและอุตสาหกรรมประเภทใหม่ ๆ เข้ามามาก นักวิเคราะห์เองก็จําเป็นต้องเพิ่มศักยภาพตัวเอง ซึ่งสมาคมนักวิเคราะห์ก็พยายามช่วยส่งเสริมในด้านการอบรมองค์ความรู้ใหม่ ๆ เช่น วิธีการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์แบบใหม่ หรือการประเมินด้าน ESG ที่กําลังมีความจําเป็นอย่างมากต่ออุตสาหกรรม รวมถึงตอนนี้เราเริ่มมีการใช้ Generative Al และอีกหลาย ๆ เครื่องมือที่คิดว่าสามารถช่วยได้ เพราะการวิเคราะห์บริษัทให้ได้ทั้งหมดนั้นทําได้ยาก เราจึงมีแนวคิดในการนํา AI เข้ามาช่วย จากเดิมที่คนหนึ่งวิเคราะห์หุ้นได้ 10 15 20 ตัว พอมี AI เข้ามาก็จะวิเคราะห์ได้มากขึ้น ถ้าในอนาคตทําได้สมบูรณ์ ก็น่าจะผลักดันให้เกิดงานวิเคราะห์ที่มาสู่สาธารณชนในด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนเจ้าของห้างสรรพสินค้าที่มีผลิตภัณฑ์เต็มไปหมด นักวิเคราะห์ก็เหมือนพนักงานแนะนําสินค้า เวลามีคนเดินเข้ามาซื้อของในห้างฯ แล้วถามพนักงานว่านี่คืออะไร ก็ต้องรู้จักสินค้าให้มากที่สุด โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้มีแค่สินค้าที่เป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเท่านั้น แต่ยังมี DR หุ้นต่างประเทศ หุ้น Tesla หุ้น Apple และยังมี DRx ด้วย ทั้งยังมีสินค้าด้านอนุพันธ์ที่ยังไม่รู้ก็อีกมาก”
นอกจากนี้ เขายังเสนอไอเดียก่อตั้งสถาบันหรือ Academy บ่มเพาะนักวิเคราะห์รุ่นใหม่เพื่อส่งเสริมให้เกิดนักวิเคราะห์ที่มีศักยภาพในอนาคตอีกด้วย
“สมาคมนักวิเคราะห์ก็ต้องมาวางแผนร่วมกันกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการจัดทําบทวิเคราะห์ออกมาให้เพียงพอ และเร่งสร้างบุคลากรเข้ามาในตลาดทุน ผมเคยมีแนวคิดที่อยากจะตั้งเป็น Academy สําหรับนักวิเคราะห์ โดยการให้นักศึกษามหาวิทยาลัยที่จบใหม่มาฝึกแบบ On the Job Training ง่าย ๆ เลย เพื่อผลิตบทวิเคราะห์บริษัทที่ไม่ค่อยมีใครทําออกมาให้ได้ บุคลากรที่ผ่านงานวิเคราะห์มาแล้ว 2-3 ปี ใน Academy นี้ ก็สามารถต่อยอดอาชีพไปได้อีกหลายบทบาท เช่น ผู้แนะนําการลงทุน (IC) วาณิชธนากร (IB) หรือจะเป็นนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) ซึ่งกําลังขาดแคลน”
ไพบูลย์ย้ําว่าการจะยกระดับตลาดทุนให้มีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศที่ก้าวหน้าต้องดําเนินไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และที่สําคัญต้องพัฒนาบุคลากรให้เติบโตทันต่อการขยายตัวของตลาดทุน นี่จึงไม่ใช่ภารกิจขององกรค์หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่คือภารกิจระดับประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาประสานความร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรทางสังคมที่เกี่ยวข้อง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุนแก่ประชาชนมาตลอด 50 ปี เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยสามารถบริหารจัดการเงิน พร้อมต่อยอดเงินออมให้งอกเงย เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ในระยะยาวผ่านหลายโครงการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เช่น โครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางการเงินของคนไทยทุกช่วงวัย ส่งเสริมให้คนไทยได้รับความรู้ ความเข้าใจด้านการวางแผนการเงินโดยห้องสมุดมารวย ห้องสมุดตลาดทุนครบวงจรแห่งแรกของประเทศที่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (INVESTORY) ที่ออกแบบมาให้เป็น Interactive Self-Discovery Museum แหล่งเรียนรู้ด้านการเงินและการลงทุนผ่านสื่อเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านการลงทุนให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจเริ่มต้นลงทุน
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมส่งเสริมและพัฒนาทักษะความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพให้รู้จักกับเส้นทางวิชาชีพในตลาดทุนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตลาดทุน การบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโตผ่านหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการตลอดจนการให้ความรู้แก่บุคลากรในบริษัทจดทะเบียนให้มีทักษะความรู้ที่จําเป็นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนได้อย่างถูกต้องและเต็มที่ ซึ่งภารกิจเหล่านี้มีความสําคัญและต้องทําอย่างต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน