หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ บ่มเพาะนักลงทุนรุ่นใหม่

ตลาดหุ้นจะเติบโตได้ต้องมีองค์ประกอบจากสองฝั่ง หนึ่งคือบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสื่อกลางในการระดมทุนเพื่อการเติบโตในระยะยาว และสองคือนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้สร้างรายได้ เป็นแหล่งเก็บเงินออม และนํามาสู่ความมั่งคั่ง

จากยุคแรกที่ผู้คนยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้น และมองว่า เป็นเรื่องไกลตัวเสมือนเป็น ‘บ่อนการพนัน’ สู่ยุคที่นักลงทุนในปัจจุบันมีความรู้มากขึ้น พิเชษฐสะท้อนให้เห็นถึงความสําคัญของการหว่านเมล็ดพันธุ์ความรู้เพื่อสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทํามาโดยตลอดได้เป็นอย่างดี

พิเชษฐมองว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของตลาดหุ้นไทยคือมีนักลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น นักลงทุนสถาบันทั้งในไทยและต่างประเทศ และนักลงทุนรายบุคคล แม้นักลงทุนบุคคลจะมีค่อนข้างมาก แต่หากเปรียบเทียบกับจํานวนประชากรแล้วยังถือว่าต่ํา โจทย์คือทำอย่างไรจะบ่มเพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ให้สนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น

“จุดเด่นของตลาดทุนไทย ผมคิดว่ามันเป็นความหลากหลายของนักลงทุน เพราะว่าตลาดในเอเชียและตลาดโลกมีไม่กี่ตลาดที่มีนักลงทุนบุคคลเป็นจุดสําคัญ นักลงทุนบุคคลเป็นจุดที่เรียกว่าเป็นเสน่ห์เพราะว่าการซื้อขายจะเกิดจากความคิดที่แตกต่าง เมื่อคนหนึ่งอยากซื้อคนหนึ่งอยากขายก็เลยทําให้ตลาดมีสภาพคล่องที่ดี

“ในอดีตถามว่านักลงทุนส่วนใหญ่เป็นใคร คําตอบคือนักธุรกิจที่ประสบความสําเร็จในชีวิต มีเงินเก็บส่วนหนึ่งก็มาลงทุนเพิ่มเติมเป็นเงินสะสม แต่ปัจจุบันภาพนั้นเปลี่ยนไปแล้ว เราจะเห็นว่ามีนักลงทุนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น อายุน้อยลง และพวกเขามาพร้อมกับความรู้ ไม่เหมือนกับคนในอดีตที่เรามักจะได้ยินว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นคล้าย ๆ กับบ่อนการพนัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสําหรับตลาดทุนในเอเชีย แต่ภาพนั้นเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งนี้คือสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ พยายามอย่างมากที่จะสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ให้เขาเห็นฟังก์ชั่นการสร้างความมั่งคั่งที่หลากหลายผ่านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

“การที่เราใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดในการออมเงินก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่สามารถทําได้ และเป็นเรื่องที่ดีด้วยเพราะบริษัทจดทะเบียนจะมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าเรามองว่าอยากจะมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของของบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพนั้น ก็เป็นการออมเงินในลักษณะหนึ่งในการที่สามารถเก็บเงินปันผลระยะยาวได้”

สิ่งที่พิเชษฐสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนคือการทํางานเชิงรุกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทําหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในโซเชียลมีเดียที่มีการสื่อสารโดยเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่เด็กลง เนื้อหาเข้าใจง่ายและกระชับ รวมไปถึงการจัดงานเสวนาให้ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทําให้คนรุ่นใหม่เข้าใจภาพการลงทุนได้ง่ายขึ้น และเป็นผลดีต่อการเติบโตของตลาดในอนาคต

เช่นเดียวกับสมจินต์ ผู้สั่งสมประสบการณ์ในโลกของตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ไทยมากว่า 30 ปี ที่มองว่าความรู้คืออาวุธที่สําคัญที่สุดในช่วงเวลาแห่งความผันผวนที่โลกกําลังเผชิญอยู่

“เราอยู่ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำซ้ำร้ายยังเจอกับปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทําให้เกิด Disruption ได้ทุกวัน ยังไม่รวมถึงปัญหา ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สร้างความผันผวนจนยากต่อการคาดเดา สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบกับการลงทุนทั้งสิ้น”

แม้จะมีความเสี่ยงมากมายทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ทางออกไม่ใช่การหนีจากการลงทุนไปสู่การไม่ลงทุน สมจินต์มองว่าสิ่งที่นักลงทุนควรจะทําในเวลานี้คือ การมีกระบวนการเก็บสะสมสินทรัพย์ที่ดีรวมถึงการวางแผนเพื่อการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น

หากจะให้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ทํางานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดเส้นทางที่ผ่านมาย่อมเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายไม่รู้จบ แต่สิ่งที่ภาคภูมิใจและยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจําของสมจินต์คือการได้ทําหนังสือที่ให้ความรู้ด้านการลงทุนเล่มแรก ๆ ในชีวิตกับตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ผมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือมากที่สุดในเรื่องการให้ความรู้ ซึ่งมักจะมาควบคู่กันกับการริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ถ้าถอยหลังกลับไปตั้งแต่สมัย ศ.สังเวียน อินทรวิชัย มีการจัดอบรมอาจารย์ต่าง ๆ โดยจัดทําหลักสูตรขึ้นมาสองหลักสูตร 1) Investment Banking 2) Investment Stock ผมได้รับมอบหมายให้สอน 3 ชั่วโมง ด้านการลงทุนในตราสารหนี้ ต่อมาภายหลังด้วยแนวความคิดที่มาจากหลักสูตร Investment Planning ของ ก.ล.ต. และด้วยความคิดที่คิดว่าหลักสูตรที่น่านํามาสอนที่สุดคือเรื่องของ Investment Policy ควบคู่กับ Asset Allocation ซึ่งเป็นวิชาหลักของ CFA สมัยนั้นผมก็เลยไปช่วยสอน จากนั้นผมก็เอาความรู้เรื่อง Asset Allocation มาปรับใช้กับเรื่องของวัตถุประสงค์ของการลงทุน ก็เป็นที่มาของแนวความคิดเรื่อง ‘จัดทัพลงทุน’

“หนังสือเล่มนั้น นอกจากจะสําคัญในฐานะที่มันเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ในชีวิต ยังเป็นหนังสือที่นำเอาแนวคิดเรื่องการจัดทัพการลงทุน (Asset Allocation) มาเผยแพร่ในสังคมไทยด้วย”

จนถึงวันนี้ การจัดทัพลงทุนก็ยังเป็นแนวคิดในการลงทุนที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ทรงพลัง

“หัวใจสําคัญของการประสบความสําเร็จทางการเงินไม่ใช่การเก่งกาจในการเก็งกำไรหุ้น แต่คือการจัดทัพลงทุนที่เหมาะสม แล้วเริ่มต้นลงทุนอย่างไม่หยุดยั้งไปเรื่อย ๆ วินัยในการลงทุน จะนำไปสู่ความสําเร็จทางการเงินอย่างแท้จริง”

นอกจากการให้ความรู้ด้านหลักการลงทุนแล้ว ยังต่อยอดไปถึงการให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

“สมัยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กําลังจะตั้ง TFEX ดร.รินใจมาชวนให้ไปสอนเรื่อง Options กับ Futures ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าได้รับเกียรติจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนําความรู้ทางวิชาการหรือในฐานะของผู้ร่วมตลาดก็ตาม ไปร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ที่ถูกใจที่สุดก็คือ ‘ร่วมกันให้ความรู้’

ขณะที่อีกด้าน ยิ่งยงย้ำว่าการเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่นักลงทุนเปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงได้ดียิ่งขึ้น

“ผมมองว่าที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ในอนาคตจะทําอย่างไรให้ความรู้เหล่านี้มันขยายขอบเขตไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น นั่นคือโจทย์ที่เราต้องทําร่วมกัน”

ด้านชวินดา มีความฝันที่อยู่ในใจนับตั้งแต่วันที่ได้รับตําแหน่งนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เธออยากเห็นคนไทยให้ความสําคัญกับการออมผ่านการลงทุนมากขึ้น

“เราพูดถึงกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันบ่อย ๆ แต่หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าจริง ๆ แล้วมูลค่าการลงทุนในกองทุนเหล่านี้ของคนไทยยังน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ สิ่งนี้สะท้อนว่านักลงทุนยังให้ความสําคัญกับการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนน้อย ส่วนคนทํางานทั่วไปก็ยังไม่ค่อยให้ความสําคัญกับการออมเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อผ่านการลงทุน

“ความร่วมมือต่าง ๆ ที่เรามีร่วมกัน
คือส่วนสําคัญในการทําให้ระบบนิเวศ
ของตลาดทุนไทยสมบูรณ์
และแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

อารักษ์ สุธีวงศ์
ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จํากัด

“จริง ๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีพลังเยอะ แล้วสมาคมฯ เองก็ต้องการส่งเสริมการออม การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโครงการส่งเสริมการออมและการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ดีควรจะทําอย่างต่อเนื่องไปตลอดในหลาย ๆ ช่องทาง เพราะว่าการทําอย่างต่อเนื่องจะทําให้นักลงทุนมองเห็น การทำทุกอย่างอย่างสม่ำเสมอจะเป็นตัวช่วยที่สําคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนวัยเยาว์ที่ไม่เคยลงทุนเลยก็จะได้หันมามอง การต่อเนื่องของข้อมูลเหล่านี้เป็นความสําคัญที่จะทําให้เกิดการเติบโตให้แก่นักลงทุนในอนาคต”

ขณะที่ อารักษ์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จํากัด ให้มุมมองเกี่ยวกับความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า

“วันนี้เราร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือส่งต่อความรู้ผ่านการเปิดคลาสอบรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนพื้นฐาน หรือการลงทุนในตลาด TFEX ตลอดจนร่วมกันขยายฐานลูกค้าให้เข้าถึงกลุ่มคนใหม่ ๆ ได้มากขึ้น

“นอกจากนี้ เวลาเราจัดงานสัมมนาการลงทุน InnovestXpo ก็ยังได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการมาออกบูธด้วยกัน ในอนาคต ผมมองว่าทุกคนต้องมี Digital Literacy รู้เท่าทันรูปแบบการลงทุนใหม่ ๆ ที่เทคโนโลยีเข้ามาเร่งให้เกิดได้เร็วขึ้น หรือ Platform ใหม่ ๆ ที่นักลงทุนอาจเข้าถึงได้ง่าย เพราะทุกอย่างในโลกเชื่อมถึงกันมากขึ้น ดังนั้น การร่วมมือกันให้ความรู้ที่ถูกต้องด้านการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ เช่น AI แก่บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งสําคัญในการทําให้ระบบนิเวศของตลาดทุนไทยสมบูรณ์และแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

นอกจากมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในตลาดทุนแล้ว นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ในฐานะนักสื่อสารมืออาชีพเล่าถึงบทบาทการให้ความรู้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความกระตือรือร้นในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเป็นอย่างมาก ผมมีโอกาสได้เข้าไปที่ห้องสมุดของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าเต็มไปด้วยหนังสือดี ๆ ที่ช่วยเปิดพรมแดนสู่โลกของการเงินการลงทุนอย่างมากมาย นับตั้งแต่ Investment 101 ปูพื้นเรื่องการลงทุนแบบง่าย ๆ ไปจนถึงหนังสือการลงทุนระดับโลก”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถทําเพิ่มเติมได้ในอนาคตที่รูปแบบการสื่อสารและพฤติกรรมการรับสื่อของผู้คนเปลี่ยนไป คือการสร้างพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อทําให้องค์ความรู้ต่าง ๆ กระจายสู่วงกว้างมากขึ้น เพราะปัจจุบันเกิดเทรนด์การสื่อสารใหม่ ๆ เช่น Fin-fluencer ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักลงทุน ทำอย่างไรที่จะจับมือกับพันธมิตรกลุ่มนี้แล้วถ่ายทอด Information Flow รวมถึง Knowledge ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในโลกที่สื่อแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ตามความสนใจที่หลากหลายของผู้คน

“บอกตามตรงในฐานะสื่อ เราก็ยังต้องการตรงนี้ เพราะบางครั้งเราก็ไม่เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นมากเท่ากับคนที่เป็นคนควบคุมตลาด เราอยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นเพื่อที่จะได้นําเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับประชาชน สิ่งนี้มันจะช่วยทําให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการจะสื่อสาร สามารถออกมาได้หลายช่องทาง แล้วก็ให้อิสระเขาไปทําสื่อในรูปแบบของเขาเอง ผมว่าอันนี้จะช่วยทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เหนื่อยจนเกินไปด้วย และสื่อมวลชนหรือว่าอินฟลูเอนเซอร์ ผมว่าเขาก็ยินดี

“ผมคิดว่าตั้งแต่ COVID-19 เป็นต้นมา
นักลงทุนรายย่อยตื่นขึ้นมาแล้ว
เราจะทํายังไงให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ
เป็นตลาดของทุกคนจริง ๆ”

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD

“ผมคิดว่าตั้งแต่ COVID-19 เป็นต้นมานักลงทุนรายย่อยตื่นขึ้นมาแล้ว เหตุการณ์อย่าง GameStop (เหตุการณ์ที่นักลงทุนรายย่อยรวมตัวกันซื้อหุ้น GameStop จนทําให้ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าในเวลาอันรวดเร็ว) นักลงทุนรายย่อยเขารู้สึกว่า โดนเอาเปรียบมานาน ในมุมนี้เราจะทํายังไงให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตลาดของทุกคนจริง ๆ แล้วมีโอกาสได้เติบโตในเรื่องของพอร์ตโฟลิโอของเขาอย่างชัดเจน เป็นทางเลือกหนึ่ง แทนที่เขาจะซื้อหวย ล็อตเตอรี่ ซึ่งผมคิดว่านี่ไม่ใช่บทบาทใครเลยครับ คือบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วคนที่จะได้ผลประโยชน์มาก ๆ ก็คือตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกันที่จะเข้าถึงกลุ่มคนจํานวนมากได้”