SET Social Impact ปลูกต้นกล้าให้ธุรกิจที่มีหัวใจเพื่อสังคม

โครงการ SET Social Impact ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ โครงการที่ตั้งต้นจากความต้องการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องการสร้างความสมดุลให้ผู้มีจิตอาสาสามารถ ต่อยอดเป็นโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม” ที่ยั่งยืนได้เช่นกัน

ตัวอย่างสําคัญคือสองนักธุรกิจจิตอาสาในโครงการ SET Social Impact ที่ตั้งใจมาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการสนใจประเด็นสังคมสู่การต่อยอดเป็นโมเดลธุรกิจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอคติเกี่ยวกับ “ผู้ป่วยจิตเวช” มีมายาวนานในสังคมไทย ภาพจําที่เรามีต่อพวกเขา ทําให้เราอาจคิดไปเองว่า ที่ทางของพวกเขามีอยู่ได้แค่ริมถนนหรือในโรงพยาบาล

แต่ไม่ใช่กับ ศิริพร อริยะวุฒิพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ลิฟวิ่ง วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด วิสาหกิจที่ช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชมีงานทํา เพื่อแก้ไขปัญหาจิตเวชอย่างยั่งยืนและเกิดศักยภาพทางธุรกิจ โดยเชื่อมโยงการทํางานกับภาคเอกชนผ่าน SET Social Impact Platform

“ชีวิตคนคนหนึ่ง ถ้าเราเห็นว่าเขาทําอะไรไม่ได้เลย เขาก็คือคนที่ไม่มีค่าเลยใช่ไหม ไม่ใช่ จริง ๆ แล้วทุกคนมีค่าถึงแม้ว่าเขาจะเจ็บป่วย ดังนั้น สิ่งที่เราทําคือการพัฒนาสุขภาวะให้กับผู้ป่วยจิตเวชทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ ให้เขามีงานทําได้ อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี” ศิริพรกล่าว ด้วยน้ําเสียงที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น

“การอบรมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทําให้เรามองเห็นตัวเอง เห็นเป้าหมายของเราชัด
คือเรื่อง Recovery ให้ผู้ป่วยเป็นหลัก
และมีทีมโค้ชจิตอาสา มาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้เรา
เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไปได้”

ศิริพร อริยะวุฒิพันธ์
ประธานกรรมการ บริษัท ลิฟวิ่ง วิสาหกิจเพื่อสังคม จํากัด

ตามสถิติพบว่าคนไทย 1 ใน 6 มีปัญหาสุขภาพจิต ในจํานวนนี้ มีไม่น้อยที่อาการรุนแรง ไม่สามารถทำบทบาทหน้าที่ตามปกติได้ มีคนมากมายที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ปัจจุบันการเข้าถึงการรักษาด้วยยาดีขึ้น แต่การ “คืนสู่สุขภาวะ” หรือ “Recovery” อย่างรอบด้านยังมีน้อยมาก นั่นทําให้ศิริพรตั้งใจก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมนี้ขึ้น

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง แม้จะมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาสุขภาวะของผู้ป่วยจิตเวช แต่ทิศทางที่จะมุ่งไปอาจยังไม่ชัดเจนเพียงพอ จนได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการ SET Social Impact Gym ทําให้ศิริพรมองเห็นหนทางชัดเจนยิ่งขึ้นสําหรับองค์กร

“การอบรมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีครบหมดทุกอย่างเลย อย่างชั่วโมงแรกประทับใจมาก เขาตั้งคําถามให้เรามองเห็นตัวเองชัด ๆ ว่าเราทำธุรกิจเพื่อสังคมจริงหรือเปล่า ทําให้เห็นเป้าหมายของเราชัด คือเรื่อง Recovery ให้ผู้ป่วยเป็นหลัก แล้วเราจะสื่อสารออกไปอย่างไร จะทําอย่างไรให้เราเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไปได้ ซึ่งจะมีทีมโค้ชจิตอาสามาช่วยเป็นที่ปรึกษา

หลังจากนั้น ศิริพรจึงมองเห็นภาพใหญ่มากขึ้นว่างานของเธอสามารถเชื่อมโยงกับสถานพยาบาลต่าง ๆ ไปจนถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสามารถเป็นผู้ร่วมทำ CSR ให้แก่องค์กรที่สนใจในประเด็นผู้ป่วยจิตเวช

นอกจากนี้ SET Social Impact ยังร่วมกับลิฟวิ่งฯ ทําโครงการ Living Together สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ให้แก่ผู้ป่วยจิตเวช โดยมีหลายบริษัทใหญ่ให้การสนับสนุน ช่วยจัดหาผู้ช่วยฝึกสอนการทําอาหาร ทําขนม ทําเกษตรอินทรีย์ พร้อมกับการพัฒนาสุขภาวะด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ศิลปะบําบัด การสื่อสาร การจัดการกับความเจ็บป่วยและการคืนสู่สุขภาวะ สิทธิและการเป็นพลเมือง ทักษะชีวิต ฯลฯ

โครงการนี้จึงเป็นเสมือนตัวเชื่อมไปสู่การจ้างงานระหว่างผู้เข้าอบรมกับองค์กรต่าง ๆ และลิฟวิ่งฯ เองก็ยังสามารถหารายได้ จากการขายสินค้าซึ่งเป็นฝีมือของผู้เข้าร่วมอบรม ตั้งแต่ภาพศิลปะ ถ้วยเพนต์ลาย พวงกุญแจ กระเป๋า ขนม หนังสือ และอื่น ๆ อีกมากมาย

“ผู้ป่วยที่มาก็คือผู้ที่หมอวินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นโรคจิตเวชอยู่ในการดูแลของแพทย์อยู่แล้ว ดังนั้น ลิฟวิ่งฯ จึงไม่ใช่สถานพยาบาล แต่การอบรมต่าง ๆ ในโครงการจะช่วยให้เขา Recovery ได้”

ศิริพรกล่าวอย่างภูมิใจว่า แม้เธอจะยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากในการผันตัวเองจากการทํางานภาคสังคมมาสู่การทํางานเชิงธุรกิจ แต่การได้โครงการของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นตัวเชื่อมความสนับสนุนจากภาคธุรกิจอื่น ๆ ทําให้เธอเห็นความเป็นไปได้สําหรับสิ่งที่เธอตั้งเป้า

“สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจคือ อยากให้ทุกบริษัท เป็นบริษัทเพื่อสังคมด้วย เอาคําว่า Social Enterprise ไปอยู่ใน ธุรกิจทั้งหมด ถ้าเขามีประเด็นที่สนใจ มีประเด็นที่อยู่ในเนื้อตัว หรือรักประเด็นนี้มาก ๆ เขาก็จะทําประเด็นนี้ได้ดี” ศิริพรกล่าวทิ้งท้าย

อีกหนึ่งตัวอย่างของ Social Enterprise ที่ตลาดหลลักทรัพย์ฯ ได้บ่มเพาะจนกลายเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่แก้ปัญหา “คุณแม่วัยใส” คือ บริษัท วรรณรักษ์หัวหิน จํากัด ที่เปลี่ยนชีวิตผู้หญิงที่มองไม่เห็นอนาคตหลายต่อหลายคนให้กลับมามีที่ยืนอย่างมั่นคงอีกครั้ง

“จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแม่วัยใสมาก มีค่าเฉลี่ยการศึกษาที่ระดับ ม.3 เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่จะถูกผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการโรงงาน คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี เราลงพื้นที่เยอะ ก็จะเห็นความยากลำบากของผู้คน ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากขายตัวหรือเป็นแม่วัยใส แต่เป็นเพราะเขาไม่มีความรู้”

“การอบรมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
ถ้าเปรียบง่าย ๆ เหมือนเป็นการพาเรือเล็ก
ให้ออกไปสู่มหาสมุทร ให้เรือแจวสามารถมีฝัน
ได้ว่าสักวันจะเป็นเรือ Cruise
และจะพาคนไปได้เยอะขึ้น”

พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์
ผู้ก่อตั้ง บริษัท วรรณรักษ์หัวหิน จํากัด

พรระวี สีเหลืองสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท วรรณรักษ์หัวหิน จํากัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทําให้เธอก่อตั้ง “โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล” ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับการบริบาลเด็กและผู้สูงอายุ

โดยเกณฑ์การรับเข้าเรียนของที่นี่ง่ายมาก “ใครก็ได้ที่เป็นมนุษย์” พรระวีอธิบายสั้น ๆ แต่ก็สะท้อนความเชื่อลึก ๆ ของเธอ

โรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล ก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2549 จนถึงปัจจุบันผลิตนักเรียนวิชาชีพการพยาบาลแล้วกว่า 1,300 คน สําหรับการดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยมีทุนการศึกษาสําหรับผู้ขาดแคลนโอกาส

พรระวีเล่าถึง “เอ๋” หนึ่งในลูกศิษย์ที่เธอภูมิใจ เอ๋คือคุณแม่วัยใส ที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน แต่มีโอกาสได้มาเรียนต่อที่นี่ ซึ่งทําให้เอ๋มองเห็นหนทางใหม่ในชีวิต ท้ายสุดเก๋สอบได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชินวัตร กัดฟันสู้ เรียนไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย จนกระทั่งสําเร็จการศึกษา

“วันหนึ่งเขาก็โทรมาว่า ‘ครูคะ วันนี้ครูอยู่โรงเรียนมั้ย เดี๋ยวพรุ่งนี้หนูจะไปหา’ ‘เราก็ เออ มาสิ’ มาถึงโรงเรียน ก็ใส่ชุดพยาบาลมาเลย เขากราบเท้าแล้วบอกว่า ‘ครูคะ หนูจบแล้ว ครูไม่ต้องห่วงหนูแล้วนะ ลูกหนูเข้า ม.1 แล้ว’ มันเป็นความรู้สึกที่…” พรระวีเว้นคําไว้ คล้ายไม่อาจอธิบายความรู้สึกทั้งหมด ก่อนจะเล่าต่อ

“เราเคยเกือบเลิกทําโรงเรียน แต่พอเราเห็นว่ามีคนที่ลําบากแบบนี้ บางคนถูกล่วงละเมิด หรือมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่ที่นี่ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ และมีหน่วยงานมาช่วยสนับสนุนในช่วงที่มีปัญหา มันจึงเป็นแรงผลักดันให้เราอยากทําสิ่งนี้ต่อไป”

ด้วยกําลังใจที่เธอได้จากลูกศิษย์ทุกคน พรระวีตัดสินใจยื่นขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ในชื่อ บริษัท วรรณรักษ์หัวหิน จํากัด และได้รับการรับรองหลักสูตรจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทําให้โรงเรียนของเธอมีสิทธิที่จะออกใบอนุญาตแก่ผู้ที่จะปฏิบัติงานดูแลผู้สูงอายุได้

ถึงจุดนี้ทําให้โรงเรียนมีรายได้เข้ามาหลังจากที่เกือบต้องปิดตัว และการที่เธอเชื่อมโยงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่เอง ทําให้สามารถต่อยอดแนวคิดเกี่ยวกับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในเวลาต่อมา กับโครงการ “SET Social Impact Gym”

“พอได้มาอบรม เขาสอนเยอะมาก ไฟแนนซ์ บัญชี กฎหมาย การตลาด โค้ชทีม SET Gym ดูแลดีมาก คือที่ผ่านมาเราใช้หัวใจทํางาน หมายถึงเราทําแต่สิ่งที่รัก แต่การมาอบรมที่นี่ เขาทําให้เรากลับมาสู่โลกธุรกิจมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าใจร้ายคิดถึงแต่กําไร แต่ต้องเอาตัวเองให้รอดด้วย”

หลังผ่านการวิเคราะห์วางแผนโมเดลธุรกิจและการเคี่ยวกรําจากโค้ช พรระวีได้ข้อสรุปว่า ช่องว่างทางธุรกิจที่เธอพบสําหรับกิจการดูแลผู้สูงอายุ คือบริการดูแลผู้สูงอายุในกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ราคาไม่แพงเกินไป เน้นมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรมภายใต้แนวคิด “ซันนี่โฮม ดูแลด้วยรัก บริการด้วยหัวใจ” ที่เราดูแลทั้งโภชนาการ การฟื้นฟูผู้ป่วยตามแพทย์แนะนํา การชะลอความเสื่อมทางสมองด้วยกิจกรรมนันทนาการและอบอุ่นด้วยสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

“ในอนาคต อยากเติบโตไปพร้อมกับการขยายความคิดและที่เน้นส่งเสริมการลงทุนทางสังคม (S – Social) ของตลาดทุน ลดความเหลื่อมล้ําทางสังคมและส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น อีกทั้งเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเกื้อกูลกัน ทําให้สังคมน่าอยู่ มีแผนที่จะขยายกิจการไปสู่การให้บริการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนต่าง ๆ และระบบ Home Healthcare ที่ได้มาตรฐานทั้งในประเทศไทยและระดับภูมิภาค

“การอบรมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าเปรียบง่าย ๆ เหมือนเป็นการพาเรือเล็กให้ออกไปสู่มหาสมุทร ให้เรือแจวสามารถมีฝันได้ว่าสักวันจะเป็นเรือ Cruise และจะพาคนไปได้เยอะขึ้น”

เมื่อถามถึงภาพฝันในอนาคต สิ่งที่พรระวีคาดหวังคือการขยายกิจการออกสู่ตลาดโลก

“ถ้าได้เป็นเรือ Cruise แล้ว ก็จะไปไกลได้มากกว่าแค่เมืองไทย วรรณรักษ์หัวหิน ในอนาคตอาจจะเป็น วรรณรักษ์อินเตอร์เนชั่นแนล เราอยากเห็นคุณภาพชีวิตดีทั้งภูมิภาคเลย ซึ่งก็ส่งผลดีต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งภูมิภาคด้วย ดังนั้น เรื่องกฎหมายก็อย่าไปทําให้ยากนัก คนรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสโต” พรระวีกล่าวด้วยความหวัง