ปรับตัวรับมือโลกอนาคต คือโจทย์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี

แม้บริบททางเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ในกระแสลมแห่งเทคโนโลยีที่พัดหมุนเร็วขึ้นและแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดูเหมือนว่าแนวคิด ‘มาก่อนกาลเสมอ’ ยังคงนํามาใช้ได้จนถึงปัจจุบัน

โจทย์สําคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จําเป็นต้องทําอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการตั้งคำถามที่ถูกต้อง เพื่อนํามาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็จะไม่มีวันถูกใครแซงหน้า

ชวินดามองว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการนํา AI มาใช้ในการจับความผิดปกติของการลงทุน มาจับข้อมูลในงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ จะเป็นตัวช่วยให้แก่ Fund Manager ได้ดีเนื่องจากข้อมูลความไม่ปกติโดยเฉพาะข้อมูลในเชิงรายวัน รายไตรมาส จะทําให้ Fund Manager บริหารกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคล่องตัวมากขึ้น ทําให้ Fund Manager มีชีวิตที่ง่ายขึ้นทันที

สมภพฉายภาพให้เห็นโจทย์ว่าในยุคดิจิทัลคนรุ่นใหม่ต้องแข็งแกร่งกว่าคนรุ่นเก่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของบุคลากรที่มีทัศนคติในการทํางานเชิงรุก และการกํากับดูแล โดยนําเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้

“ผมเชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวมาโดยตลอด เห็นได้จากพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านต่าง ๆ เช่น การชําระราคา จากเมื่อก่อน T+3 ก็เหลือ T+2 มีสิ่งที่พัฒนามาเยอะมาก วันนี้การกํากับดูแลตลาด ผมเชื่อว่าก็คงใช้ Infrastructure ในการที่จะเข้ามาช่วยอะไรหลาย ๆ อย่างเช่นกัน อนาคตเชื่อว่าหลากหลายบริการจะถูกพัฒนาให้ดีขึ้น และเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มตัว เช่น

Digital IPO ที่ช่วยลดการใช้กระดาษและเพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานระหว่าง FA ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ที่เชื่อมโยงกัน โดยในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้รองรับ Machine Readable ในการตรวจสอบได้ด้วย แม้กระทั่งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ต้องมองถึงเทคโนโลยีอนาคตอย่าง Blockchain ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการใช้กับหุ้น IPO ตราสารหนี้ หรือ Digital Bond โดยไม่จําเป็นต้องมีนายทะเบียน ไม่ต้องมีผู้รับฝาก ทุกอย่างอยู่ใน Blockchain ที่ตรวจสอบได้ ช่วยเพิ่มความสะดวกมากขึ้น”

“สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเฝ้ามอง
คือการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
เชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วมาก
และเปลี่ยนไปแบบที่ห้ามกะพริบตา”

สมภพ กีระสุนทรพงษ์
อดีตประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย

สมภพฝากถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเฝ้ามองคือการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เขาเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วมาก และเปลี่ยนไปแบบที่ห้ามกะพริบตา
 
ขณะเดียวกันในมุมมองของสื่อมวลชน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ให้ความเห็นว่า เรื่องดิจิทัล เรื่องการ Transform มีความท้าทายเยอะมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการปรับตัว หรือ Transform ครั้งใหญ่เหมือนกัน
 
“ในมุมมองของผม ความท้าทายมันซับซ้อนขึ้น เร็วขึ้น หลากหลายขึ้น และก็คงไม่สามารถที่จะทํางานในลักษณะเดิมที่เคยประสบความสําเร็จแบบที่เป็นมาในอดีตได้ คงต้องมีการปรับตัวอะไรหลายอย่างให้เข้ากับยุคสมัย แล้วก็ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป”
 
Loh Boon Chye มองว่ากฎระเบียบของภาคการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจตามไม่ทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เขาจึงเห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศต้องทํางานใกล้ชิดกับหน่วยงานกํากับดูแลเพื่อให้แนวทางการกํากับดูแล มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ Digital Assets, Cloud Technology และ AI เป็นต้น นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ทุกประเทศต้องบริหารจัดการความท้าทายที่มากับเทคโนโลยีคือ ทําอย่างไรจึงจะดูแลประสิทธิภาพของโครงสร้างตลาดทุนโดยรวมที่มีระบบซื้อขายแบบกระจายศูนย์เกิดขึ้นมากมาย