Cyber Security และภัยไซเบอร์ สู่แนวทางปกป้องนักลงทุน

ในขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือภัยไซเบอร์ที่เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งเห็นได้ถึงความชัดเจน และผลกระทบจากการโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการแฮกเข้าระบบขององค์กรจากช่องโหว่บนโลกออนไลน์ และภัยจาก Malware หรือ Ransomware ที่ถูกส่งผ่าน Spam Mail และ Phishing ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ด้วยพัฒนาการที่รวดเร็วของเทคโนโลยีที่ทําให้การทำธุรกรรมออนไลน์สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทําให้ความรู้เรื่อง Digital Literacy หรือการรู้เท่าทันภัยทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องสําคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ภัยไซเบอร์เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ ๆ ทุกวัน และขยายวงกว้างไปในทุกแวดวง ไม่เว้นแม้แต่แวดวงการเงินและตลาดทุน

สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จําเป็นต้องให้ความสําคัญคือ ผลกระทบที่ตามมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นคือ ภัยไซเบอร์ ที่สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน

“การบริหารความเสี่ยงของเราต้องเข้มข้น การเปิดบัญชีได้ง่ายไม่ได้หมายความว่าหละหลวม ความปลอดภัยต้องไม่น้อยไปกว่าการใช้กระดาษ แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีประชากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีโอกาสที่จะหลุดรั่วหรือผิดพลาด ดังนั้น ต้องยกระดับความร่วมมือของทั้งอุตสาหกรรม คืออุตสาหกรรมควรจะแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและประสบการณ์ลงทุนที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า แต่เราไม่ควรจะแข่งขันกันเรื่องการดูแลความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยงเราต้องทําด้วยกัน” อารักษ์มองถึงความเป็นไปได้ของการจัดการเรื่องภัยไซเบอร์

“ถ้ามี Online Platform มาก ๆ
ยิ่งต้องระวังไม่ให้นักลงทุน
ที่ทํารายการกับระบบถูกแฮก
ระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ต้องรัดกุมและแม่นมาก ๆ ซึ่งเรื่องนี้
ไม่เกินกําลังของตลาดหลักทรัพย์ฯ”

ศรีกัญญา ยาทิพย์ 
อดีตเลขาธิการ กองทุนบําเหน็จ บํานาญข้าราชการ (กบข.)

ศรีกัญญา ยาทิพย์ อดีตเลขาธิการ กองทุนบําเหน็จบํานาญ ข้าราชการ (กบข.) มองความท้าทายของตลาดทุนไทยในเรื่อง Cyber Security ว่า

“ถ้ามี Online Platform มาก ๆ ยิ่งต้องระวังไม่ให้นักลงทุนที่ทํารายการกับระบบถูกแฮก ระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องรัดกุมและแม่นมาก ๆ เพื่อป้องกันปัญหา เช่น ข้อมูลรายการเกิดรั่วไหล เพราะความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นจะหายไป ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกินกําลังของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะออกมาตรการป้องกันแฮกเกอร์ รวมถึงการหลอกลงทุน คนที่ถูกล่อลวงเชื่อเพราะมีการนําชื่อของตลาดหลักทรัพย์ฯ และคนในตลาดทุนไปใช้ เพราะเขาเชื่อมั่นในชื่อเหล่านั้น เขาจึงถูกหลอก ดังนั้น จึงต้องช่วยเขาด้วยการรักษาความเชื่อมั่นของระบบตลาดทุนโดยรวมไว้ให้ได้”

Chih-Hung Lin ให้มุมมองว่า ยิ่งมีการใช้เทคโนโลยีมาก ยิ่งต้องให้ความสําคัญเรื่อง Cyber Security หรือภัยคุกคามที่มีเพิ่มมากขึ้นตามมาเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้านไอทีจึงเป็นสิ่งสําคัญ

“เมื่อสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาแล้ว
ต้องมาคิดต่อว่าทำอย่างไรให้ระบบ
มีความเสถียรต่อเนื่อง เจ้าของแพลตฟอร์ม
จึงมีการเตรียมความพร้อม
และให้ความสําคัญกับวิธีการปิดช่องโหว่”

พชร อารยะการกุล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จํากัด (มหาชน)

ในมุมของ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจดทะเบียน นอกจากการพัฒนาแพลตฟอร์มด้าน Big Data/Al แล้ว เขายังให้ความสําคัญกับเรื่อง Cyber Security ด้วย เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มาใช้แพลตฟอร์ม

“เมื่อสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาแล้ว ต้องมาคิดต่อว่าทําอย่างไรให้ระบบมีความเสถียรต่อเนื่อง เจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น Bluebik จึงมีการเตรียมความพร้อมและให้ความสําคัญกับวิธีการปิดช่องโหว่ แล้ววางแผนต่อไปข้างหน้าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ํา”

“เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ที่ไหนมีการเปลี่ยนแปลงที่นั่นย่อมมีโอกาส”

วิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน)

วิโรจน์ ศิริรัตนรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะมีเรื่องของความปลอดภัยที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในยุคที่แฮกเกอร์เกิดมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการโจมตีเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับได้ดีขึ้น

“เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ไหนมีการเปลี่ยนแปลงที่นั่นย่อมมีโอกาส ในขณะเดียวกันก็มีข้อที่ต้องระวังรอบคอบ เช่น เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยิ่งเทคโนโลยีมีความซับซ้อน มิจฉาชีพก็เปลี่ยนรูปแบบตามเทคโนโลยีเหมือนกัน สมัยก่อนทีวีราคาแพง โจรก็เข้าบ้านขโมยทีวี แต่ยุคนี้ไปขโมยกันในออนไลน์แทน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนควรต้องทําคือการปรับตัวทั้งผู้ประกอบการ และพนักงานทั่วไป รวมถึงลูกค้าผู้ใช้งาน แค่ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีว่าอันไหนมีประโยชน์หรือมีข้อจํากัดอย่างไร อันไหนที่ควรจะต้องระวังอะไร อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องสําคัญ แล้ววันหนึ่งเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ”

“ความท้าทายมันซับซ้อนขึ้น มันเร็วขึ้น
มันหลากหลายขึ้น และก็คงไม่สามารถที่จะ
ทํางานในลักษณะแบบที่เคยประสบความสําเร็จ
แบบที่เป็นมาในอดีตได้”

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร สํานักข่าว THE STANDARD

นครินทร์ชี้ให้เห็นถึงความสําคัญของความปลอดภัยทางข้อมูลที่มีเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการฉ้อโกง (Fraud) มิจฉาชีพที่มาในคราบ Call Center ข่าวปลอม (Fake News) รวมถึง Phishing การหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ต ปัญหาเหล่านี้ร้ายแรงกว่าที่คิด ไม่นับถึงเรื่องการพนันออนไลน์ และ Dark Web

“ผู้ไม่หวังดีเขาเก่งขึ้นทุกวัน ดังนั้น คนที่เป็นตํารวจก็ต้องเก่งขึ้นตาม หรือคนที่เป็น Regulator ควบคุมตลาดก็จําเป็นต้องอัพเดตความรู้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นความท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความรับผิดชอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น ทุกคนต้องช่วยกันจริงๆ กับเรื่องนี้”

ในมุมของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มเห็นนักลงทุนชื่อดังถูกแอบอ้าง ตกแต่งภาพนําไปปั่นกระแส เพื่อโปรโมตการลงทุนในทางที่ผิด ซึ่งกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม ในขณะที่คนไทยยังขาดความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ค่อนข้างมาก เขาจึงเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรให้ความสําคัญกับการปิดช่องโหว่ ป้องกันผู้ที่จ้องจะฉกฉวยผลประโยชน์ โดยสื่อมวลชนเองพร้อมให้ความร่วมมือ

“ต้องยอมรับว่ามีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์มากขึ้น ทําให้ภาพโดยรวมที่ออกมาไม่ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมาก ๆ ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากไหน แต่เราต้องยอมรับว่ามีคนที่เสียหาย หนึ่งในนั้นตัวละครที่สําคัญคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องตื่นตัวมาก แล้วสื่อก็พร้อมเข้ามาช่วยแน่นอน เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ สําหรับผมมันเป็นวาระแห่งชาติ”

ณรงค์ศักดิ์ชวนมองต่อไปถึงคําว่า ‘Investor Protection’ การป้องกันการโกงหรือป้องกันการผูกขาดหรือการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเหล่านี้คือบทบาทของ บลจ. และบทบาทของบริษัทหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงการลงทุนและประสบความสําเร็จ

“การมี Investor Protection เป็นมูลค่าที่สําคัญต่อตลาดที่ตั้งมาเป็นระยะเวลานาน เป็นสิ่งที่จะทําให้นักลงทุนวางใจในการลงทุนระยะยาวต่อไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการสอดส่องดูว่าบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลการดําเนินงานเป็นยังไง สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมอย่างไร แม้ว่าไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงแต่สามารถแจ้งเบาะแสการกระทําที่ไม่ถูกต้องเพื่อเป็นการ Early Detection โดยเฉพาะในเรื่อง ESG ที่ยังไม่ได้ถูกบังคับโดยกฎหมาย แต่ต้องมีความตระหนักรู้ถึงความสําคัญ จึงเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”

“ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจควบคุมได้
บางอย่างก็ไม่อาจควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราทําได้
คือการเพิ่มเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ให้กับผู้จัดการกองทุนพร้อมรับมือสถานการณ์
ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน
เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

ชวินดา หาญรัตนกูล
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ชวินดาให้มุมมองว่า “ในโลกการลงทุนที่ท้าทายและรวดเร็วมากขึ้น สิ่งที่เราอยากเห็นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการโฟกัสเพิ่มเติมทั้งในเชิงของ Macro และ Micro โดยอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยจับตา

“Macro คือการมอนิเตอร์การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่างๆ ในโลกอย่างใกล้ชิด ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจควบคุมได้ บางอย่างก็ไม่อาจควบคุมได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและอํานวยความสะดวกให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“ส่วนในเชิง Micro นั้นจะเป็นลักษณะของการดูแลบริษัท ที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทําอย่างไรให้บริษัทเหล่านี้มีความแข็งแรงและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ปัจจุบันจะพบว่า หลายบริษัทอาจทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายบริษัทที่ยังต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากระบบที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนํามาใช้ในการตรวจสอบและติดตาม ส่งเสริมให้เกิดการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวหรือความเปลี่ยนแปลงของบริษัทเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นเพื่อการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือที่สูงขึ้น”

บุญพรมองความท้าทายในปัจจุบันในเรื่องของเทคโนโลยีเช่นเดียวกันว่า “การรุดหน้าของเทคโนโลยีย่อโลกการลงทุนทั้งใบมาอยู่ในมือของเรา ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในตําแหน่ง แห่งที่ไหน นักลงทุนทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้หมดแล้ว แต่นอกจากในแง่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์เทคโนโลยีกลับสร้างแง่มุมที่เป็นความท้าทายขึ้นมา นั่นคือการเกิดขึ้นของกลโกงมิจฉาชีพต่าง ๆ

“ดังนั้น ตลาดทุนไทยย่อมพบกับความท้าทายเป็นอย่างยิ่งในแง่ของการแข่งขันกับตลาดทุนโลก เราจึงต้องพัฒนาและส่งเสริมความสามารถ ตลอดจนเรื่องของกฎระเบียบ เสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ต้องตามให้ทัน โดยเฉพาะถ้ากฎระเบียบยังล้าหลังก็อาจจะเปิดช่องให้พวกมิจฉาชีพเข้ามาเอาเปรียบ ในที่สุดแล้วอาจทําให้ตลาดบ้านเราหมดความน่าเชื่อถือลงไป”

สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการบริหาร วารสารการเงินธนาคาร ฉายภาพตลาดทุนผ่านประสบการณ์ในแวดวงการลงทุนอย่างยาวนานในฐานะสื่อมวลชนอาวุโส พร้อมกับข้อเสนอที่อยากเห็นเพิ่มเติมในอนาคตว่า

“หลายคนเคยมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ เปรียบเสมือนแหล่งการพนันหรือบ่อนของนักลงทุน ถามว่าปัจจุบันยังมีหรือเปล่า ต้องบอกว่าก็ยังมีอยู่ แต่ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ก็มีความพยายามอย่างแข็งขันในการดูแลและจัดการไม่ให้เกิดการเข้ามาปั่นหรือล่อลวงนักลงทุน

“สิ่งที่อยากจะเสริมเพิ่มเติมก็คือ การให้ความรู้กับนักลงทุนเป็นเรื่องสําคัญและจะเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาการโกงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมคาดหวังว่า อีกไม่ช้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการจัดทําฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้นักลงทุนทั่วไปไม่ตกหลุมพรางของนักปั่นหุ้นหรือนักสร้างราคาที่จะเข้ามาล่อลวงในตลาดทุนไทย”

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านความท้าทายมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะความท้าทายด้านเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันในความท้าทายนั้นเองก็มีโอกาสมากมายรออยู่ หากภารกิจการปรับเปลี่ยนตัวเองสู่อนาคตของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปตามเป้าหมายหรือความคาดหวัง โลกที่รออยู่ย่อมเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ สําหรับนักลงทุนภาคธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นบทพิสูจน์ถึงการเดินทางต่อไปในยุคแห่ง Technology Disruption ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในทศวรรษต่อ ๆ ไปเช่นเดียวกับความท้าทายที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ผ่านมาอย่างประสบความสําเร็จตลอด 50 ปี

“หลายคนเคยมองว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เปรียบเสมือนแหล่งการพนันหรือบ่อนของนักลงทุน
แต่ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.
ก็มีความพยายามอย่างแข็งขันในการดูแลและจัดการไม่ให้เกิด
การเข้ามาปั่นหรือล่อลวงนักลงทุน”

สันติ วิริยะรังสฤษฎ์
ประธานบรรณาธิการบริหาร วารสารการเงินธนาคาร

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ในฐานะนักวิชาการ Data Scientist นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิจัยตลาดทุนให้ความเห็นว่า Digital Asset Policy เป็นเรื่องใหม่ที่ปฏิเสธไม่ได้ และคนทั่วโลกกําลังให้ความสําคัญว่าจะพัฒนาหรือกำกับดูแลอย่างไร

“ผมมีความรู้สึกว่านิยามของตลาดทุนกําลังจะเปลี่ยนไป ในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อของตลาดแบบค่อนข้างไร้พรมแดนกว่าเดิมจริง ๆ มี Cryptocurrency ไปแล้ว ถ้าเอาอคติคําว่า Crypto ออกเอาคําอื่นใส่เข้าไป ผมมองว่าในอนาคตอาจจะมีความเป็นไปได้ที่สินค้าทุกอย่างในโลกจะค้นพบตลาดทุนและมีราคาของมันตลอดเวลา เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างในอนาคต อาจจะเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายมาก แปลว่ามันอาจจะถูก Tokenized แล้วกลายเป็น Tradable ค่อนข้างง่าย ผมเชื่อว่าถ้ามันพัฒนาไปอย่างนี้นะ แล้วทําได้ แล้ว Regulator ทั่วโลกเห็นว่า จริง ๆ เป็นประโยชน์ในการเข้าถึงสภาพคล่องจากทุกที่มันจะเกิดขึ้น ซึ่งพอมันเกิดขึ้นแปลว่าอันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาดทุนในทุกประเทศ”

ภาพตลาดทุนแห่งอนาคตที่ณภัทรอยากเห็นคือ ความชัดเจน คุณภาพ และการเชื่อมต่อกับโลก Digital Assets ได้อย่างที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย โดยความชัดเจนเป็นเรื่องที่สําคัญ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีคนเข้าใจน้อย ผู้ที่เชี่ยวชาญมีจํานวนจํากัด

“โลกอนาคตยังไม่แน่นอนว่า Digital Assets, Cryptocurrency และ Token จะออกมาในรูปแบบไหน มาในรูปแบบของการลงทุนอย่างเดียว สินค้าหรือเงินตราจะกระทบกับตลาดทุนอย่างไร แต่ต้องบอกว่ามันมีอานุภาพในการเปลี่ยนตลาดทุนเยอะมาก ถึงแม้ยังไม่ได้รับความนิยมและมีความผิดพลาดเยอะ แต่ในทางเทคโนโลยีมันทําได้แล้ว และกําลังรอคนกลุ่มหนึ่งในโลกที่จะหยิบมาทําเป็นไอเดีย ต่อยอดตลาดทุนในปัจจุบัน ถ้าทําสําเร็จเชื่อว่า จะกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลก”

ณภัทรย้ำว่า หัวใจของตลาดทุนคือที่โอนถ่าย เคลื่อนย้ายทุนที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตต้องใส่ใจกับคุณภาพให้มาก และให้ความสําคัญกับสินค้าในตลาดทุน ที่ต้องเป็นสินค้าที่ดี มีความปลอดภัยและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้ภายใต้นโยบายส่งเสริมตลาดทุน

“ตลาดทุนเปรียบเสมือนห้องเครื่องที่เป็นหัวใจในการสูบฉีดเลือดให้ระบบเศรษฐกิจ บางคนอาจเข้าใจผิดว่าตลาดทุนมีแค่เรื่องหุ้นอย่างเดียวจริง ๆ แล้วมีมากกว่านั้น เพราะตลาดทุนเป็นสิ่งจําเป็นที่ต้องมีในระบบเศรษฐกิจ ตลาดทุนสามารถผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่หรือไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้”

นอกจากนี้การสาดซัดของคลื่นเทคโนโลยีที่ถาโถมยังนํามาซึ่งความเสี่ยงที่ต้องคํานึงถึงด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ ณภัทรให้มุมมองอย่างน่าสนใจว่า

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทุกคนให้ความสนใจเรื่อง Big Data และ AI แต่การที่จะเอาข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลกลับมาสร้างคุณค่าให้กับองค์กรอันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตามตลาดทุนไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ที่พอเทคโนโลยีมาแล้วจะดีเสมอไป เพราะเทคโนโลยีเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ส่วนที่สําคัญที่สุด เพราะตลาดทุนมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของการลงทุนในประเทศ ผมคิดว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีอาจจะล้ำหน้าเกิน ความต้องการในปัจจุบัน อาจจะต้องกลับมาดู จะทําอย่างไรให้ Traditional Assets มี Quality ที่ดีขึ้น”

พร้อมกันนี้ ณภัทรทิ้งท้ายด้วยว่า “อีกเรื่องที่สําคัญคือการเอาข้อมูล Big Data และ AI มาช่วยวางกติกาในการซื้อขายหรือในการเปิดเผยข้อมูลให้ดีกว่าเดิม หรือใช้ในขั้นตอนการตรวจจับความผิดปกติในกรณีที่เกิดปัญหา และจัดการได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นที่จะตามมา ซึ่งความสําเร็จมันไม่ใช่แค่เรื่องของความเร็ว หรือต้นทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเสี่ยง และความเชื่อมั่นที่ต้องมีความสมดุลทั้งคุณภาพและจรรยาบรรณ”