“ตลาดหลักทรัพย์ไทย ต้องทันโลก ทันเทคโนโลยี ทันการณ์
เป็นตลาดทุนที่โปร่งใสเพื่อสร้างความมั่นคง
แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน”

นับแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 หรือเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อยู่คู่กับเศรษฐกิจไทยมาตลอด ผ่านยุคสมัยแห่งความเฟื่องฟู รุ่งเรือง ล้มลุกคลุกคลานแต่ก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนจนตราบเท่าทุกวันนี้ ดังนั้น การมองไปข้างหน้าโดยถอดบทเรียนจากอดีตจึงมีความสําคัญในการวางแผนอนาคตของตลาดหลักทรัพย์ไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 19 ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสําคัญของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยอีกครั้งได้ฉายให้เห็นภาพ ‘ตลาดทุนแห่งอนาคต’ ผ่านมุมมองที่สะท้อนอดีตของผู้มีประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในตลาดทุนไทยมาอย่างใกล้ชิดและยาวนาน

“ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงปี 2557-2561 เป็นเวลา 2 สมัยติดต่อกันจากการเสนอชื่อของบริษัทหลักทรัพย์ และยังเข้ามาเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2562 และ 2565 โดยการเสนอของคณะกรรมการ ก.ล.ต. จากประสบการณ์การเป็นกรรมการในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มาหลายสมัย ทําให้ผมพอมีความเข้าใจถึงปัญหาของตลาดทุนไทย ผมจึงไม่ใช่คนนอกวงการในตลาดทุน ดังนั้น เมื่อได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 19 ผมจึงอยากมองไปข้างหน้าเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อน ปรับตัว เปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความมั่นคงแก่เศรษฐกิจประเทศไทยในระยะยาว”

กิติพงศ์เห็นว่าการดําเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านมามีแนวทางที่ชัดเจนผ่านวิสัยทัศน์ในการ ‘พัฒนาตลาดทุนเพื่อ ทุกคน’ โดยมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการทํางานอย่างต่อเนื่องในหลายด้านเพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีการสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนอย่างหลากหลาย นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีส่วนสําคัญอย่างยิ่งในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว มีการบ่มเพาะบุคลากรในตลาดทุนให้มีความรู้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในโลกการลงทุน รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดการดําเนินธุรกิจ มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ที่มีคุณค่าภายในองค์กร

“ผมจึงหวังว่า ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะต้องดำเนินการตามวิสัยทัศน์และพันธกิจต่อไป โดยเฉพาะการ ‘พัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกคน’ อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นและมีเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ตอบโจทย์ปัญหาประเทศโดยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นศูนย์กลางตลาดทุนในภูมิภาคที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันเหตุการณ์ได้อย่างสม่ำเสมอ”

ถอดบทเรียนอดีต ยกระดับตลาดทุนไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาจนกระทั่งเข้าสู่ 5 ทศวรรษ หากมองปัจจุบันและแลไปข้างหน้าต้องถือว่าเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย ดังนั้น อนาคตข้างหน้าของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีความท้าทายอย่างยิ่ง การถอดบทเรียน ความผิดพลาดในอดีตเพื่อมองไกลไปในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่ควรทํา

“เมื่อมองย้อนไปในช่วงปี 2563–2566 ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเงินโลก และด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดด ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นความท้าทายที่เข้ามากระทบตลาดทุน ทําให้มีความซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น เช่น การแพร่ของโรคระบาด COVID-19 และสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย อิสราเอลกับฮามาส ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนและความเชื่อมั่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากแลไปข้างหน้าหรืออนาคตของตลาดทุนไทย เราก็จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นที่กล่าวกันว่าเป็นโลกแห่ง VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) ดังนั้น ส่วนตัวผมเองมีความเห็นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องปรับเปลี่ยนการทํางานในอนาคตในหลายเรื่องอย่างรวดเร็วและทันการณ์”

ตัวอย่างสําคัญที่กิติพงศ์ยกมาฉายภาพให้เห็นตัวอย่างหนึ่งคือการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นกลไกที่สําคัญอย่างยิ่งในการสร้างโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนไทยใช้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายตัวกลายเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาระดมทุน มีการจัดให้มีเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ และส่งเสริมนักลงทุนให้มีทางเลือกในการลงทุนและได้รับผลตอบแทนที่ดี การสร้างกลไกความโปร่งใสในการกํากับดูแลกิจการที่ดี สร้างความยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล (ESG) แม้จะมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นอยู่บ้างก็ต้องแก้ไขปรับปรุงไปเรื่อย ๆ และเหล่านี้คือการปรับเพื่อเปลี่ยนไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นในมุมมองของกิติพงศ์

สร้างความเชื่อมั่นให้เกิด ‘ตลาดทุนแห่งอนาคต’ ของทุกคน

นอกจากนั้น เรื่องสําคัญที่เป็นแกนกลางของความเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คือความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ซึ่งกิติพงศ์เน้นย้ำว่านักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องจะเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อตลาดทุนได้มากขึ้น หากการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่สามารถทําเองได้โดยลําพังแต่ต้องมีการทํางานแบบบูรณาการโดยอาศัยความร่วมมือในการทํางาน (Collaboration) ของหน่วยงานภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ และหากมีความจําเป็นก็ต้องสามารถออกหรือแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อสามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทําผิดต่อตลาดทุนไทยได้เร็วขึ้น และเพิ่มบทลงโทษผู้กระทําผิดต่อตลาดทุน ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับการกํากับดูแลประชาชน และคุ้มครองนักลงทุนให้มีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะปัญหาการฉ้อฉลในตลาดทุนที่เคยเกิดขึ้นพบว่ามีการกระทําที่ซับซ้อนมากกว่าในอดีต ดังนั้นการบูรณาการการทํางานร่วมกันในตลาดทุนเท่านั้นจึงจะทําให้ประสบความสําเร็จได้

“ในช่วงก่อนที่ผมเข้ารับตําแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 19 นั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงอย่างมาก ซ้ำยังเกิดการฉ้อฉลในวงการตลาดทุนในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา และกลุ่มบุคคลที่มีการแบ่งหน้าที่กันทําเพิ่มมากจนไม่สามารถป้องปราม และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีความรวดเร็ว ชัดเจน และมีบทลงโทษที่เด็ดขาด การคุ้มครองนักลงทุนให้มีความเท่าเทียมกัน พร้อมกับการสร้างความโปร่งใสในการประกอบกิจการของบริษัทจดทะเบียน”

กิติพงศ์มองว่าสิ่งสําคัญคือต้องสร้างองค์ความรู้ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. ตำรวจเศรษฐกิจ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานอัยการสูงสุด และศาลยุติธรรม เพื่อให้คดีมีความรวดเร็วขึ้น

“การทําผิดกฎหมายในตลาดหุ้น การฉ้อโกง การปั่นหุ้น สิ่งที่ต้องทําและจําเป็นต้องทําเลย คือ ยึดทรัพย์ไว้ก่อน แล้วเร่งฟ้องร้องเพื่อเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็ว ในจุดนี้เห็นว่าควรต้องมีการแก้กฎหมายกันใหม่ ไม่ว่าจะให้ ก.ล.ต. ส่งฟ้องคดีได้เอง โดยอาจมีการยืมตัวอัยการมาชั่วคราวเพื่อร่วมทําคดี รวมไปถึงเรื่องของการมีกฏหมายเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“นอกจากนี้ ควรเร่งผลักดันมาตรการยกระดับกำกับดูแลเพิ่ม ความเชื่อมั่นนักลงทุน เช่น การควบคุมดูแลเรื่อง Program Trading โดยเฉพาะการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง High-Frequency Trading (HFT) การยกระดับการกำกับดูแล Short Selling และ Naked Short Selling รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มแหล่งข้อมูลกลางตลาดทุนไทย เช่น Central Platform รวมทั้ง ปรับปรุงหลักเกณฑ์การระดมทุนใหม่ ๆ ช่วยกันพัฒนาสร้างความได้เปรียบให้กับตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันเพื่อยกระดับสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคได้”

ตลาดหลักทรัพย์ไทยต้้องก้าวทันเทคโนโลยี

ในอีกด้านหนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องแสวงหาโอกาสจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนตลาดทุนให้ทันท่วงที การใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สําคัญ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเฝ้าระวัง การนําข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทจดทะเบียน การตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเตือนป้องกัน หรือใช้ประโยชน์จาก Big Data ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ เพื่อนําไปพัฒนาการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็กและธุรกิจใหม่ ๆ ของประเทศไทยที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตที่จะเข้าจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถมีบทบาทสําคัญในการช่วยวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจในแต่ละกลุ่มเพื่อ ให้ทุกคนเข้าถึง ‘ตลาดทุนแบบดิจิทัล’ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งในประเด็นนี้กิติพงศ์ได้ฉายภาพให้เห็นอนาคตของการใช้ AI ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไว้ว่า

“โจทย์ต่อไปคือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนให้เป็นตลาดทุนแบบดิจิทัล เพื่อมาเสริมตลาดทุนแบบดั้งเดิมด้วยการนําเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การใช้ AI สํารวจงบดุลของบริษัทจดทะเบียนที่มีความน่าสงสัย จับตาดูความเคลื่อนไหว มีระบบการแจ้งเตือนถึงสิ่งผิดปกติของหุ้นบางตัวที่อาจเกิดปัญหาเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจ สามารถนําไปวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการการลงทุนของนักลงทุนประเภทต่าง ๆ นําไปสู่การพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าและบริการการลงทุนใหม่ ๆ ในรูป Digital Assets ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนยุคใหม่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น สร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี และดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในตลาดทุนไทยมากขึ้น”

นําเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุุนใหม่ๆ
ทันต่อความต้องการในโลกการลงทุน

โลกการลงทุนเปลี่ยนไปแบบไร้พรมแดนทําให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกการลงทุนมากขึ้นไม่ได้จํากัดอยู่ที่ตลาดหุ้นไทย ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสรรหาเครื่องมือทางการเงินการลงทุนและสินค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนทั้งในและต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ธุรกิจ SMEs / Startups ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ (New Economy) ต่อยอดจากจุดแข็งเดิมของไทย เช่น ธุรกิจด้านอาหารและสุขภาพ การท่องเที่ยว มานําเสนอให้กับนักลงทุน เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนและส่งเสริมให้เกิดการออมและการลงทุน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่เป็นแค่ตัวกลางให้เกิดการซื้อขายหลักทรัพย์หรือหุ้นเท่านั้น แต่ควรจะสร้างเครื่องมือทางการลงทุนใหม่ ๆ ให้เหมาะสมและตอบสนองความต้องการของสังคม

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นอีกเรื่องที่สําคัญเพราะจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดทุนไทย กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวและนําไปลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงการสร้าง New Investment ขยายฐานนักลงทุนกลุ่มใหม่ เช่น การตั้งกองทุนรวมเยาวชนที่ผู้ปกครองซื้อลงทุนให้ลูกหลานและขายได้เมื่อลูกหลานอายุ 18 ปี และนํามาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น หรือจะเป็นกองทุนรวมสําหรับผู้สูงวัยที่สะสมเงินเข้ากองทุนหลังจากเกษียณแล้ว สามารถทยอยเบิกเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจําวันได้ทุกเดือน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ พวกตราสารหนี้ หุ้นกู้ ESG, ESG Fund, Digital Assets และการนํา Carbon Credit มาใช้ให้เห็นผลโดยใช้โอกาสในการระดมทุนผ่านตลาดทุนทั้งในประเทศและภูมิภาค ขณะเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาศักยภาพให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาระดมทุนได้เพราะหลายธุรกิจมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก ผมมองว่าการเปิดตลาดใหม่ถ้าทําได้ก็เหมือนเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่เป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งทําไม่อย่างนั้นก็ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง”

สร้างองค์ความรู้ด้าน Financial Literacy ให้คนไทยรู้ทันการลงทุน

การสร้างองค์ความรู้ด้านการเงิน Financial Literacy เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงินการลงทุน และให้นักลงทุนเข้าใจทางเลือกการออมและการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในการลงทุนระยะยาวผ่านเครื่องมือทางการเงินการลงทุนใหม่ ๆ และไม่ถูกหลอกลวง เป็นบทบาทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทํามาโดยตลอด ซึ่งก็ควรมีการพัฒนาเนื้อหาให้ทันกับเหตุการณ์และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้สื่อใน Social Media ให้มากขึ้นการสร้างตําราทางตลาดทุนเพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีความเข้าใจและเข้าถึงเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น

“ผมมองว่าการสร้างตําราหนังสือการลงทุน คําอธิบายกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนและหลักคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปในหลักสูตรของระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับนักเรียนในโรงเรียนไปจนถึงระดับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิชาชีพตามลําดับ จะเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุน รวมถึงปลูกฝังความมีคุณธรรมจริยธรรมในการลงทุนและในการทําธุรกิจ เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทันการลงทุนและเข้าถึงตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น”

เสาหลักในการผลักดันทางด้านความยั่งยืนทุกมิติ

กิติพงศ์มองว่าตลาดทุนไทยนอกจากเป็นกลไกสําคัญในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนและสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ประกอบการและบริษัทจดทะเบียนแล้ว ที่สําคัญยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้นักลงทุนและประชาชนในสังคมได้รับประโยชน์จากกลไกตลาดทุนในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่ดําเนินงานอย่างโปร่งใส ช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเติบโตได้อย่างสมดุลในทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม ภาพ ‘ตลาดทุนแห่งอนาคต’ จะเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ บุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีส่วนสําคัญยิ่งในก้าวต่อไป ดังนั้น พนักงาน ผู้บริหาร และคณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องปรับเปลี่ยนความคิด โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ Reskill และ Upskill ภายในองค์กรและแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นให้เกิดการพัฒนาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถก้าวไปสู่ทศวรรษใหม่ได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง กลายเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายในอนาคต “คนตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องทันโลก ทันเทคโนโลยี ทันการณ์ เพื่อสร้างตลาดทุนที่โปร่งใส และยั่งยืน” นี่คือสิ่งที่ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 19 ฝากไว้ให้เป็นแนวทางร่วมกันเพื่อเดินหน้าสู่อนาคตนับจากปีที่ 50 ต่อไปได้อย่างมั่นคง

“ควรเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ
เรื่องการลงทุน รวมถึงปลูกฝังคุณธรรม
จริยธรรมในการลงทุนและในการทําธุรกิจ
เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทันการลงทุน
และเข้าถึงตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น”