“ต้องคิดเผื่อล่วงหน้าเอาไว้ทุกทางว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง มันจะส่งผลกระทบแค่ไหน
แล้วเราจะต้องทํายังไงกับมัน ดังนั้น ทีมไอทีต้องระแวดระวัง
อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจได้ว่า
ระบบของเราจะยังคงทํางานต่อไปได้แม้เกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น”
SET IT
รองรับโอกาสการลงทุนทุกที่ทุกเวลา
ในวันที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการทํางานของมนุษย์หัวใจสําคัญของทุกองค์กรคงหนีไม่พ้น ‘ระบบ IT’ (IT Infrastructure) ที่ทําให้พนักงานซึ่งเป็นฟันเฟืองสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นระบบ ประหนึ่งหัวใจทําหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อนําออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กร ควบคู่ไปกับการพัฒนาและดูแลระบบซื้อขายหลักทรัพย์ เทคโนโลยีการลงทุน รวมถึงระบบงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์และอนุพันธ์มาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
ถิรพันธุ์ สรรพกิจ (ถิ) รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ‘พี่ถิ’ ของน้อง ๆ ทีม IT ผู้มีประสบการณ์ทํางาน ที่เป็น ‘หัวใจ’ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มานานกว่าสามสิบปี ทั้งงาน Development และงาน Operation
“งาน IT จะมีอยู่ 3 เรื่องที่เป็นหัวใจหลัก หนึ่งคือ Functional ระบบต้องดี มีเสถียรภาพ Function ครบถ้วน สวยงาม ใช้งานง่าย สองคือ Scalability ระบบต้องขยายได้เร็วเมื่อมีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้น และสามคือ Security ระบบต้องปลอดภัย ต้องมีความเอาใจใส่เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ไม่รั่วไหล สําหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ เสถียรภาพของระบบต้องอยู่ในระดับสูงสุด เพราะการที่ระบบหยุดชะงักหรือล่าช้าเพียงเล็กน้อยจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมาก ๆ”
แม้จะเคยเกิดวิกฤตครั้งใหญ่อย่างชุมนุมทางการเมืองปี 2553 หรืออุทกภัยปี 2554 การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีสะดุด
“ต้องคิดเผื่อล่วงหน้าเอาไว้ทุกทางว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงมันจะส่งผลกระทบแค่ไหน แล้วเราจะต้องทํายังไงกับมัน ดังนั้น ทีม IT ต้องระแวดระวังอยู่ตลอด เวลาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบของเราจะยังคงทํางานต่อไปได้แม้เกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่สําคัญคือ ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทํา ถ้าเราไม่รู้ลึก ไม่รู้จริงในสิ่งที่ทํา มันก็อาจเกิดช่องโหว่ในการทํางานได้ งานเราจะพลาดไม่ได้เลยแม้แต่วินาทีเดียว” ถิรพันธุ์ถ่ายทอดมุมมองการทํางานไว้
“เวลาเกิดวิกฤตเราต้องไม่มัวมานั่งตื่นตระหนก
เสียอกเสียใจ หรือโทษตัวเอง แต่ต้องรีบตั้งสติดูว่า
เราจะแก้ปัญหาอย่างไร และต้องทําอย่างรวดเร็วด้วย
ภายใต้เวลาที่จํากัด เพราะทุกวินาทีเราผิดพลาดไม่ได้”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสําคัญบนหน้าประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย เพราะเป็นวันที่ ‘Settrade’ หรือบริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายสื่อสาร ที่เชื่อมโยงกับระบบซื้อขายหลักทรัพย์เปิดให้ใช้งานเป็นครั้งแรก จะมีสักกี่คนรู้ว่ากว่าจะมาเป็นระบบเทรดหุ้นยอดนิยมอย่างทุกวันนี้ต้องฝ่าด่านอุปสรรคนานัปการ
พุฒิพงศ์ สกนธวัฒน์ (ซี) ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ ยิ้มกว้าง เมื่อนึกถึงช่วงเวลายากลําบากตอนเข้าร่วมบุกเบิกบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จํากัด
“จะเรียกว่าผมเป็นพนักงานคนแรกรหัส 001 ของบริษัท เซ็ทเทรด เลยก็ได้ครับ ตอนนั้นอายุแค่ยี่สิบต้น ๆ หัวหน้าสั่งให้ทําอะไรก็ทําทุกอย่าง เริ่มงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงสองทุ่ม การเลิกงานเที่ยงคืนนี่ถือเป็นเรื่องปกติ บางทีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องเข้าบริษัท เพราะอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการทดสอบระบบ Settrade ที่กําลังจะเปิดให้ใช้งานในอีกไม่กี่เดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสมาก
“แต่หลังเปิดให้บริการได้ประมาณ 3-4 ปีก็เกิดปัญหาใหญ่ เราเจอ Bug รุนแรงมากจนระบบรวน ทีมงานเราตกใจกันมากกับเหตุการณ์นั้น แต่ก็ต้องตั้งสติ แล้วรีบหาทางแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน” พุฒิพงศ์เล่าถึงช่วงเวลาอันหนักหนาสาหัส
ถิรพันธุ์ในฐานะหัวหน้าทีมฝ่าวิกฤตเล่าว่า ตอนนั้นถึงกับต้องระดมทุกทีมที่เกี่ยวข้องมาช่วยกู้ระบบกลับคืนมา ต้องเร่งมือ ทํางานแข่งกับเวลาแบบข้ามวันข้ามคืน สุดท้ายก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน
“พวกเราได้บทเรียนเยอะมาก” ถิรพันธุ์ลากเสียงยาว “หลังจบเหตุการณ์นั้น ผมมักจะนึกถึงเพลงชื่อว่า ‘ตีนที่มองไม่เห็น’ ของวงนั่งเล่น พูดถึงตีนที่ถีบคุณลงไปในน้ํา ตอนแรกเราอาจจะเกลียดมัน แต่พอว่ายน้ําตะเกียกตะกายผ่านมันมาได้ หันกลับไปมองอีกทีก็จะพบว่าตีนนั้นมันทําให้เราเติบโตนะ
“บทเรียนที่ได้คือเมื่อเกิดวิกฤต เราต้องมีสติ ใจเย็น แล้วก็ต้องนําลูกทีมฝ่าปัญหาไปให้ได้ ล้มได้แต่ต้องรีบลุก ห้ามล้มเลิกเด็ดขาด น้อง ๆ ที่ผ่านอุปสรรคด้วยกันมา ทุกวันนี้ก็กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าขององค์กร แล้ววิกฤตก็ทําให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้”
ส่วนพุฒิพงศ์ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นเพียงพนักงานน้องใหม่ ก็ได้เรียนรู้สิ่งสําคัญที่ไม่มีตำราเล่มไหนหรือสถานศึกษาใดบอกสอน
“เหตุการณ์นั้นทําให้ผมเรียนรู้ว่าเวลาเกิดวิกฤตเราต้องไม่มัวมานั่งตื่นตระหนก เสียอกเสียใจ หรือโทษตัวเอง แต่ต้องรีบตั้งสติดูว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร และต้องทําอย่างรวดเร็วด้วยภายใต้เวลาที่จํากัด เพราะทุกวินาทีมีคนได้คนเสีย เราผิดพลาดไม่ได้”
‘เคยตายมาแล้วทุกรูปแบบจนกระทั่งรู้ว่าต้องทํายังไงถึงจะไม่ตายอีก’ คำเปรียบเปรยของพุฒิพงศ์ถึงความแข็งแกร่งที่ได้จากวิกฤต ส่วนถิรพันธุ์นึกถึงการ์ตูนเรื่อง Dragon Ball “เวลาเจอเรื่องหนักหนาสาหัส ถ้ารอดมาได้ ไม่ตายซะก่อน เราก็จะกลายเป็น Super Seiya” พูดจบเขาหัวเราะชอบใจ เหมือนคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาโชกโชน
สําหรับระบบที่ต้องขยายได้เร็วเมื่อมีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นนั้น ถิรพันธุ์เล่าถึงพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนํา IT มาใช้จากตอนจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งใช้ระบบ IT ช่วยงาน หลังการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก คือ การบันทึกรายการ (Book Keeping) ต่อมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นํา IT มาใช้กับระบบซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อจับคู่คําสั่ง (Matching Order)
หลังจากนั้น IT ได้เข้าไปถึงการสร้างเครื่องมือที่นักลงทุนส่งคําสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ได้เอง (Online Trading และ Mobile Trading) และในยุคต่อไป IT จะมีบทบาทช่วยตัดสินใจแทนมนุษย์ ดังที่เห็นจาก Program Trading หรือ Artificial Intelligence และในอนาคต อยากให้บริการ IT ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยบริการแก่ประเทศได้ด้วย เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ําจาก Economy of Scale
ฉัตรชัย สินธพ (เหวิน) ผู้อํานวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบซื้อขาย กลุ่มงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คืออีกหนึ่งบุคลากรที่เป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาระบบ Infrastructure ให้กับ SET, TFEX, LiVE Exchange และพัฒนาโครงการ Green Data Center ให้มีประสิทธิภาพระดับสูงสุด ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสําคัญ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองการขยายตัวทางธุรกิจของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์และให้ทันสมัยทัดเทียมกับระดับสากล
“ในปี 2555 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปลี่ยนแปลงระบบซื้อขายครั้งสําคัญ จากที่เราใช้ระบบ ASSET (Automated System for the Stock Exchange of Thailand) มาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาในประเทศมาเป็นระบบซื้อขายใหม่เรียกว่า SET CONNECT ของ Cinnober ถือเป็นการพัฒนาที่ก้าวกระโดด สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ถ้าเปรียบเสมือนการขับรถ ก็คือการขับ Ferrari ต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่
“เราต้องทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสิ่งที่เวิร์ก
สําหรับทุกคนจริง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีก็เป็น
เครื่องมือสําคัญที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายนั้น
การทําให้ประเทศไทยมี Infrastructure ที่ดี
เหมาะแก่การลงทุน ระบบมีเสถียรภาพและ
โปร่งใส ก็มีส่วนในการเสริมสร้างเศรษฐกิจ
ของประเทศให้มั่นคงและมั่งคั่งได้”
และต้องดําเนินการให้ราบรื่นที่สุด อีกทั้งต้องช่วยบริษัทสมาชิกให้เชื่อมต่อระบบใหม่อย่างมีเสถียรภาพ ในปีนั้นเราเริ่มซื้อขายที่ตลาด Equity ก่อน กระทั่งปี 2557 เริ่มซื้อขายกับตลาดอนุพันธ์ ก็ถือเป็นครั้งแรกที่ระบบสําคัญของ 2 ตลาดอยู่บนระบบเดียวกัน โดยบริษัทสมาชิกเชื่อมต่อเพียงที่เดียว ก็ทําการซื้อขายได้ทั้ง 2 ตลาด หลังจากนั้น มีการเพิ่มสินค้าใน TFEX เข้ามามากขึ้นเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนโดยเฉพาะ เวลาซื้อขายก็ขยายไปถึงตี 3 ของอีกวัน เรียกได้ว่าระบบทํางานตลอดไม่หลับไม่นอนจริง ๆ
“ต่อมาปี 2561 ก็เริ่มพัฒนาระบบซื้อขายใหม่อีกครั้งเป็นระบบของ Nasdaq ก็เปรียบเสมือนการขับ Ferrari รุ่นใหม่ขึ้น ซึ่งมีจุดเด่นด้าน Connectivity ง่ายต่อการ On-board หรือส่งคําสั่งเข้ามา ในแง่ Time to Market และการเสริมสภาพคล่องในตลาดก็สามารถเชื่อมต่อกับเราได้ง่ายขึ้น ระบบใหม่นี้เพิ่ง Go Live เมื่อต้นปี 2566 เนื่องจากติดปัญหาการสื่อสารในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องประชุม Online ข้าม Time Zone กับผู้เกี่ยวข้องในหลายประเทศ นอกจากนี้ เรามีการทดสอบ Market Readiness กับบริษัทสมาชิกแทบทุกสัปดาห์ตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อซักซ้อมความพร้อมที่จะขึ้นระบบใหม่ให้มั่นใจว่าต้องไปด้วยกันแบบ Smooth และในที่สุด เมื่อระบบทํางานได้ตามความคาดหวัง ทุกคนที่ร่วมทํางานกันมาก็ภาคภูมิใจ” ฉัตรชัยเล่าประสบการณ์ผ่านความท้าทายในช่วงนั้นมาด้วยสีหน้าภูมิใจ
ฉัตรชัยยืนยันว่าเป้าหมายสูงสุดของทีม IT คือการทําให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ‘Make It Work for Everyone’ ได้อย่างแท้จริง
“เราต้องทําให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสิ่งที่เวิร์กสําหรับทุกคนจริง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีก็เป็นเครื่องมือสําคัญที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายนั้น การทําให้ประเทศไทยมี Infrastructure ที่ดีเหมาะแก่การลงทุน ระบบมีเสถียรภาพและโปร่งใส ก็มีส่วนในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงและมั่งคั่งได้”
“ความสุขของงาน IT คือได้ช่วยสนับสนุนเพื่อนพนักงาน ในองค์กรให้ทําธุรกิจได้สําเร็จ มีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้าภายนอกได้” พุฒิพงศ์กล่าวเสริมถึงความสุขของการทํางานที่ผ่านมา
การทํางานด้านระบบ IT ซึ่งเปรียบเหมือนหัวใจของงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ สะท้อนให้เห็นว่าต้องทํางานเชิงรุก (Proactive) เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ต้องรู้ลึกรู้จริง มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่ทํา (Proficient) แต่เมื่อถามว่าอะไรคือ หลักปฏิบัติสําคัญที่สุดของชาวตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งสามคนเห็นตรงกันว่า คือความซื่อสัตย์สุจริต
“ทุกคนควรภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเป็นองค์กรที่มี Integrity สูงมาก ดังที่อาจารย์สังเวียน อินทรวิชัย เคยกล่าวไว้ว่า ‘สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใคร ทําสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทําสิ่งนั้น’ มันสําคัญมากที่เราต้องยึดคําว่า Integrity ในการสร้างมาตรฐานการทํางานครับ” ถิรพันธุ์ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หากระบบ IT เปรียบดั่ง ‘หัวใจ’ ขององค์กรยุคใหม่ที่มีการแข่งขันกันด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หัวใจดวงนี้ย่อมเป็นเรี่ยวแรงสําคัญในการขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มกําลัง ไม่หยุดนิ่งและไม่มีวันหลับใหล